เด็กที่ฮอร์โมนปกติ จะมีพัฒนาการ ส่วนสูง และน้ำหนักที่สมวัย แต่ถ้าพ่อแม่เห็นว่าลูกตัวเตี้ยผิกปกติ ลูกเตี้ยกว่าเด็กวัยเดียวกัน ลูกอาจจะเป็นโรคขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตก็เป็นได้
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ หน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกไว้ว่า ฮอร์โมนเจริญเติบโต หรือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) จะถูกผลิตและสร้างออกมาจากต่อมใต้สมอง ซึ่งอยู่บริเวณกลางของศีรษะ ต่อมใต้สมองขนาดเล็กนิดเดียวแต่สร้างฮอร์โมนออกมาหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือฮอร์โมนเจริญเติบโต ในเด็กที่มีปัญหาขาดฮอร์โมนเจริญเติบโตหมายความว่าอาจจะมีความผิดปกติของต่อมใต้สมอง
ต่อมใต้สมองอาจจะมีขนาดเล็ก มีรูปร่างผิดปกติไป หรือว่าอาจมีพันธุกรรมบางอย่างทำให้การสร้างฮอร์โมนผิดปกติ
อาจจะมีก้อนเนื้อไปกดต่อมบริเวณนี้ เด็กอาจจะได้รับอุบัติเหตุ มีการบาดเจ็บในศีรษะชนิดรุนแรง มีการผ่าตัด หรือมีการเอกซเรย์ในศีรษะเพื่อรักษาโรคบางอย่างแล้วไปทำลายหรือรบกวนต่อมใต้สมอง ทำให้ต่อมสร้างหรือผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโตไม่ได้
เด็กกลุ่มนี้ตัวเตี้ย แต่รูปร่างของเด็กจะดูค่อนข้างจ้ำม่ำ ไม่ได้เตี้ยผอม ลักษณะเหมือนกับมีพุงนิด ๆ เพราะมีไขมันไปพอกตามที่ต่าง ๆ เสียงพูดจะเล็กและแหลม ใบหน้าจะดูอ่อนกว่าวัยเดียวกัน รูปร่างใบหน้าเหมือนตุ๊กตา ช่วงกลางของ ใบหน้าจะหวำลึกลงไป
ถ้ารู้สึกว่าลูกโตไม่เท่าเพื่อน ๆ หรือพี่น้องคนอื่น ๆ โดยเฉพาะพี่น้องท้องเดียวกัน คนพี่ดูตัวเล็กกว่าคนน้อง
วัดความสูงเด็กแล้วความสูงไม่เพิ่มขึ้น โดยมีตัวเลขคร่าว ๆ ว่า ถ้าเด็กอายุ 4-10 ขวบ ปีหนึ่งโตไม่ถึง 5 เซนติเมตร ถือว่าค่อนข้างตัวเล็กกว่าที่ควรจะเป็น
ถ้าพ่อแม่เห็นกราฟการเจริญเติบโตของลูก ซึ่งมักจะมีอยู่ในสมุดคู่มือตรวจสุขภาพ พบว่าความสูงของลูกเบี่ยงจากเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะเป็น
เด็กตัวเตี้ยร่วมกับมีอาการอื่น ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย ๆ มีปัญหาทางสายตา ปวดศีรษะบ่อย ๆ คลื่นไส้อาเจียน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อพบว่าเด็กมีภาวะตัวเตี้ยแพทย์จะรักษาตามสาเหตุของเด็กแต่ละคน เช่น ฉีดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (growth hormone) ให้ยาชะลอความเป็นหนุ่มเป็นสาว (GnRH-analogue) ให้ไทรอยด์ฮอร์โมน ให้วิตามินดี เป็นต้น
1. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
2. ดื่มนมรสจืด อย่างน้อยวันละ 2-3 แก้ว
3. ให้ลูกออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและมวลกระดูก โดยให้พิจารณาความเหมาะสมตามวัยของลูกด้วย เช่น การกระโดดโลดเต้น ปีนป่าย ว่ายน้ำ บาสเกตบอล แบดมินตัน ฟุตบอล ฯลฯ ครั้งละ 30 นาที ประมาณ 3-5 ครั้ง ต่อสัปดาห์
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 8-10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ฮอร์โมนเติบโตทำงานได้เต็มที่ และไม่ควรนอนดึกเนื่องจากฮอร์โมนเจริญเติบโตจะหลั่งออกมาช่วงกลางดึก ประมาณ 22.00 -02.00 น. ดังนั้นเด็กจึงควรเข้านอนก่อนช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ฮอร์โมนเติบโตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ, โรงพยาบาลสินแพทย์