หากปัญหาการมีลูกยากของเราเกิดจากฝ่ายอสุจิไม่แข็งแรง หรือ ในน้ำเชื้อไม่มีตัวอสุจิ แบบนี้จะต้องรักษาอย่างไรเพื่อให้สามารถมีลูกได้เป็นปกติ
มีลูกยาก ไม่ท้องสักทีอาจเพราะน้ำเชื้อของสามีไม่มีตัวอสุจิหรือเปล่า
ภาวะการมีบุตรยาก คือ การที่คู่สมรส ไม่สามารถมีลูกได้ หลังจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ได้คุมกำเนิดอย่างน้อยเป็นเวลา 12 เดือน
ปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์โดยวิธีธรรมชาติ
- ฝ่ายชายสามารถสร้างตัวอสุจิที่มีจำนวน รูปร่าง และการเคลื่อนไหวในเกณฑ์ปกติ
- ท่อนำอสุจิของฝ่ายชายไม่มีการอุดตัน
- ฝ่ายชายมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศ และสามารถหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอดได้
- ตัวอสุจิต้องเคลื่อนที่เข้าไปถึงปากมดลูก ผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก และเข้าไปตามท่อนำไข่ เพื่อปฏิสนธิกับไข่ได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม
- ฝ่ายหญิงสามารถผลิตไข่ที่ปกติได้ และมีการตกไข่เข้าไปในท่อนำไข่ได้
- ไข่ที่ถูกผสมเป็นตัวอ่อนที่ปกติแล้ว ต้องเคลื่อนเข้าไปในโพรงมดลูกได้ และมีการฝังตัวเข้าไปในเยื่อบุโพรงมดลูกที่พร้อมรองรับการฝังตัว
- ตัวอ่อนที่ฝังตัวแล้ว สามารถเจริญเป็นทารกต่อไป
สาเหตุของการมีบุตรยาก
การมีบุตรยากอาจเกิดจากฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย หรือร่วมกันทั้งสองหญิงก็ได้ สาเหตุของการมีบุตรยาก มีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แบ่งได้ 3 กลุ่มคือ
- สาเหตุจากฝ่ายหญิง พบได้ประมาณ ร้อยละ 40-50
- สาเหตุจากฝ่ายชาย พบได้ประมาณ ร้อยละ 30-40
- ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ พบได้ประมาณ ร้อยละ 10-20
การมีลูกยากจากสาเหตุของฝ่ายชายเกิดได้หลายลักษณะ ซึ่งทางการแพทย์สามารถตรวจและรักษาได้ โดยมีขั้นตอนการตรวจดังนี้ (อ่านหน้าต่อไป)
การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ (Semen Analysis)
โดยทั่วไปก่อนเก็บน้ำอสุจิเพื่อส่งตรวจแนะนำให้ฝ่ายชายงดร่วมเพศเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 วัน เพราะถ้ามีการร่วมเพศภายในช่วงเวลา 3-5 วัน ก่อนมีการส่งตรวจอาจทำให้ความเข้มข้นของอสุจิมีค่าต่ำกว่าปกติ และหากงดมีเพศสัมพันธ์เกินกว่า 5 วัน จะมีการสร้าง ageing sperm cell เพิ่มมากขึ้นจาก epididymis ซึ่งจะทำให้อสุจิดังกล่าวเคลื่อนไหวได้ลดลง
การตรวจน้ำอสุจิควรตรวจในห้องตรวจที่มีอุณหภูมิห้องหรืออุณหภูมิร่างกาย (หากเป็นการตรวจทาง microscopic ควรตรวจที่อุณหภูมิร่างกาย คือ 37 องศา) ทันทีที่มีการหลั่งอสุจิจะมีการแข็งตัวโดย protien seminine ที่สร้างมาจากต่อมลูกหมาก เพื่อให้น้ำอสุจิขังอยู่ในช่องคลอด หลังจากนั้นประมาณ 20-30 นาที น้ำอสุจิจะกลายเป็นของเหลวอีกครั้งเพื่อให้ตัวอสุจิสามารถผ่านเข้าสู่ปากมดลูกได้
ในกรณีที่น้ำอสุจิแข็งตัวนานกว่าปกติ และไม่กลายเป็นของเหลว จะทำให้อสุจิไม่สามารถผ่านเข้าสู่ช่องคลอดและเป็นสาเหตุให้มีบุตรยากได้
ค่าปกติของผลการวิเคราะห์น้ำอสุจิ ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก
- ปริมาณมากกว่า 2 ซีซี
- จำนวนความเข้มข้นมากกว่า 20 ล้านตัวต่อซีซี
- จำนวนน้ำเชื้อทั้งหมดมากกว่า 40 ล้าน
- อัตราการวิ่งมากกว่า 50 %
- รูปร่างปกติมากกว่า 30 %
- จำนวนมีชีวิตมากกว่า 75 %
- จำนวนเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1 ล้านต่อต่อซีซี
- Ph >=7.2
- ถ้ามีความเข้มข้นของอสุจิน้อยกว่า 20 ล้านตัวต่อ มล. เรียกว่ามีภาวะ oligospermia
- ภาวะที่ตัวอสุจิเคลื่อนไหวได้ น้อยกว่าร้อยละ 50 เรียกว่า asthenozoospermia
- ภาวะที่มีตัวอสุจิที่ลักษณะปกติ (normal morphology) น้อยกว่าร้อยละ 30 เรียกว่า teratozoospermia
คำแนะนำเมื่อฝ่ายชายอสุจิไม่แข็งแรง หรือไม่มีอสุจิ
- ลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้การผลิตฮอร์โมนเพศชายลดลง
- งดสูบบุหรี่จะทำให้จำนวนน้ำเชื้อลดลง
- ควบคุมน้ำหนักตัว เพราะไขมันในร่างกายจะปล่อยเอนไซม์ aromatase ซึ่งจะเปลี่ยนฮอร์โมน เพศชายเป็นเอสโตรเจนเป็นผลให้ลดฮอร์โมน testosterone และจำนวนน้ำเชือลดลง
- หลีกเลี่ยงอัณฑะต้องอยู่ในที่ร้อนเช่น การอาบน้ำร้อนและซาวน่า
- ลดความเครียดมีผลให้รูปร่างน้ำเชื้อไม่ดี
ปัจจัยที่มีผลต่อความแข็งแรงของอสุจิ
- มีการทำลายฃองอัณฑะ เช่น มีการติดเชื้อ เป็นมะเร็งที่อัณฑะ มีการบาดเจ็บหรือได้รับการผ่าตัดที่อัณฑะ
- การใช้ยาสเตียรอยด์ จะทำให้จำนวนและการเคลื่อนไหวของอสุจิลดลงประวัติการได้รับยาบางชนิดเช่น cimetidine, spironolactone, nitrofurans, sulfasalazine, erythromycin, tetracyclines,anabolic steroids และยาเคมีบำบัดต่างๆ จะทำให้ทั้งคุณภาพและปริมาณของอสุจิลดลง
- ประวัติการได้รับสารเสพติดเช่น โคเคน กัญชา สารเสพติดเหล่านี้จะทำให้ปริมาณของอสุจิและระดับ testosterone ลดลง กัญชาสามารถลดการหลั่งของ GnRH และสามารถกดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ทั้งในสามีและภรรยา โคเคนจะทำให้การสร้างอสุจิลดลง
- มีภาวะเส้นเลือดขอดที่อัณฑะ
- การประเมินทางพันธุกรรม (Genetic evaluation) พบว่าผู้ชายที่มี Y chromosome submicroscopic deletions มักมีความเข้มข้นของอสุจิต่ำกว่าปกติ (oligospermia)
กลุ่มของยีนที่ขาดหายไปและสัมพันธ์กับภาวะ azoospermia หรือ oligospermia เรียกว่า deleted in azoospermia (DAZ) นอกจากนี้ยังพบว่ามีบริเวณที่จำเพาะบน Y chromosome ที่สัมพันธ์กับภาวะ azoospermia เรียกว่า azoospermic factors
ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตำแหน่ง คือ AZFa, AZFb และ AZFc ผู้ชายที่มีตัวอสุจิน้อยมาก มักจะมีการขาดหายไปของยีนบริเวณ AZFb และ AZFc ซึ่งอยู่บนแขนข้างยาวของ Y chromosome เนื่องจากภาวะดังกล่าวสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกได้ในกรณีที่ทำ intracytoplasmic sperm injection (ICSI) ดังนั้นจึงควรมีการตรวจสอบหาความผิดปกติของ Y chromosome ในผู้ชายที่มีภาวะ oligospermia ก่อน ที่จะแนะนำให้ทำ icsi
สาเหตุมีบุตรยากในฝ่ายชาย
- เกิดขึ้นเนื่องจากมีความผิดปกติที่อัณฑะเอง เช่น การหยุดทำงานของอัณฑะอย่างถาวร (testicilar atrophy) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบว่ามี FSH, LH สูงแต่มี testosterone ต่ำ หรืออยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ผู้ป่วยในกลุ่ม ที่ ระดับฮอร์โมน มี FSH, LH และ testosterone ต่ำ ซึ่งแสดงถึงความผิดปกติของสมองทำให้มีการสร้างหรือหลั่ง FSH และ LH มากระตุ้นการทำงานของอัณฑะได้น้อย จึงเป็นผลให้ระดับ testosterone มีค่าต่ำ
ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจพิเศษ เช่น CT-scan หรือ MRI เพื่อวินิจฉัยแยกภาวะร้ายแรงต่างๆ เช่น เนื้องอกของสมองออกไป ก่อนได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนซึ่งพบว่าการใช้ pulsatile GnRH หรือ HCG ร่วมกับ HMG สามารถรักษาภาวะพร่อง GnRH ได้ผลดี ส่วนในกรณีของภาวะพร่อง gonadotropins ควรให้การรักษาด้วย HCG อย่างเดียวหรือร่วมกับ HMG
- ความพิการแต่กำเนิด (Congenital syndromes) ได้แก่ ภาวะที่อัณฑะค้างอยู่ในช่องท้อง (cryptorchid), หรือภาวะ Klinefelter syndrome เป็นต้น
- การติดเชื้อของอัณฑะ เช่น mumps orchitis จากการติดเชื้อคางทูม
- การได้รับสารที่มีผลเสียต่ออัณฑะ เช่น สารพิษที่พบในสิ่งแวดล้อม อาหาร และยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย เช่น cimetidine, spironolactone และ flutamide เป็นต้น สารฆ่าแมลงบางชนิด เช่น dibromochloropropane ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายต่ออัณฑะได้ เช่นเดียวกับเคมีบำบัดหลายชนิด เช่น cyclophosphamide, busulfan, methotrexate และ chlorambucil เป็นต้น
- เกิดจากการอุดตันหรือ dysfunction ของระบบสืบพันธุ์ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาความเข้มข้นของอสุจิต่ำกว่าปกติ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีระดับของ FSH, LH และtestosterone อยู่ในเกณฑ์ปกติ แม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับขบวนการสร้างอสุจิก็ตาม แต่ก็พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการอุดตันของ epididymis หรือ vas deferens
ส่วนในกรณีที่ผู้ชายไม่มีตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลยซึ่งถือว่าเป็นหมัน ปัจจุบันสามารถนำเอาอสุจิออกจากอัณฑะ (TESE) หรือจากท่อนำน้ำอสุจิส่วนต้น (MESA,PESA) แล้วนำมาทำ ICSI ได้แล้ว หากพบว่าเริ่มเข้าข่ายมีลูกยาก ควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาการมีบุตรยากนะคะ
บทความโดย
แพทย์หญิง วรประภา ลาภิกานนท์ สูตินรีแพทย์