ให้ได้เมื่อประเมินแล้วว่าเขาควบคุมตัวเองได้ อธิบาย
ข้อที่ 1 ทำไมเราจึงเคร่งครัดนักกับเรื่องการไม่อนุญาตให้เด็กเล็กก่อน 2 ขวบดูหน้าจอใดๆเหตุผลคือเพราะสมองของเด็กเติบโต เปลี่ยนแปลง และพัฒนาทุกวัน เซลล์ประสาท เส้นประสาท จุดเชื่อมต่อของเส้นประสาท วงจรประสาทเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า wiring แปลตามตัวว่าวางขดลวด
เด็กเล็กก่อน 2 ขวบดูหน้าจอมากเกินไป เราห่วงว่าสมองของเขาจะพัฒนาเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับหน้าจอ แทนที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับหน้าคน (face) โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบหน้าแม่ ซึ่งจะเป็นต้นแบบของใบหน้ามนุษย์คนอื่นๆในสังคม
เด็กทารกแต่ละคนจดจำหน้าแม่ด้วยความเร็วต่างกัน เราเรียกกระบวนการนี้ว่า face recognition คือการรับรู้ว่าวงกลมสองดวงที่มีสันจมูกตรงกลางและเรียวปากด้านล่าง นี่คือหน้ามนุษย์ การดูหน้าจอมากไปจึงกระทบต่อเด็กเล็กแต่ละคนไม่เท่ากัน
หลายบ้านอาจจะอ้างได้ว่าไม่เห็นเป็นไร แต่หลายบ้านพบว่ากว่าจะรู้ตัวเด็กก็ไม่สบตาคน และไม่พูดหรือพูดช้าหรือพูดไม่เป็นภาษาหรือพูดได้แต่สื่อสารไม่ได้ ดังนั้นข้อห้ามที่ 2 ขวบยังเป็นประเด็น
ข้อที่ 2 เด็กในประเทศพัฒนาแล้วใช้แท็บเล็ตเพื่อการศึกษาตั้งแต่อายุ 7 ขวบคือเข้าประถม 1 ด้วยข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกเข้าสู่ยุคไอที มีไวไฟ และความรู้หลากหลายมิได้อยู่ในห้องเรียนหรือตำราเรียนแต่อยู่ในอินเทอร์เน็ต
คำว่าการศึกษาในที่นี้มิได้หมายถึงการท่องจำความรู้บนหน้าจอ แต่เป็นการศึกษาสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นให้เด็กทำโครงงานเพื่อแก้ปัญหาหรือทำโครงงานตามความใฝ่รู้ของตนเอง เครื่องมือที่ดีอย่างแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนจึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยพัฒนาทักษะไอทีซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21
กล่าวอย่างสั้น เด็กๆ ต้องคงความใฝ่รู้ อยากรู้ และสามารถใช้เครื่องมือไอทีเพื่อพัฒนาตนเองตามความใฝ่รู้นั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้ข้อนี้บอกเราว่าเด็กควรได้ใช้เครื่องมือไอทีแน่ระหว่างอายุ 3-6 ขวบ คำถามที่ยากกว่าคือใช้อย่างไร
ข้อที่ 3 เด็กควรมี EF คือการควบคุมตัวเอง (self control) ที่ดี เพราะเด็กจะต้องใช้ความสามารถนี้ในการควบคุมตัวเองให้พัฒนาไปข้างหน้าโดยไม่ว่อกแว่กไปกับสิ่งเย้ายวนระหว่างทาง ดังนั้นเด็กจึงต้องมีความสามารถในการควบคุมหรือกำกับตัวเองให้ใช้เครื่องมือไอทีตามกติกา เวลา และวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม
การควบคุมตัวเองในเรื่องไอทีมิได้มีอะไรพิเศษไปกว่าการควบคุมตัวเองในทุกๆเรื่อง กล่าวคือเป็นความสามารถที่มากับพัฒนาการตามลำดับชั้นโดยเริ่มจากตัวเองเป็นศูนย์กลาง (self-centered)
การฝึกเด็กให้ควบคุมตัวเองได้สามารถทำได้ด้วยการฝึกเด็กทำงานบนพื้นที่ความรับผิดชอบ 4 พื้นที่โดยเรียงลำดับจากร่างกายของตัวเองที่ศูนย์กลาง รอบร่างกาย บ้าน และรอบบ้าน ควบคุมตัวเองได้คือควบคุมไอทีได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล