นักจิตวิทยาเยอรมัน William Stern เป็นคนแรกที่คิดค้นการวัด IQ ขึ้นมาในปี ค.ศ.1912 เพื่อใช้เป็นมาตรฐาน “วัดความฉลาด” ของมนุษย์ในต้นศตวรรษที่ 20 สมัยนั้นเขาใช้เครื่องมือนี้เพื่อแยกว่าเด็กคนไหนฉลาดไม่พอให้แยกออกจากโรงเรียนไป หนุ่มคนไหนไม่ฉลาดมากนักก็ควรถูกคัดไปอยู่หน่วยทหารที่ไม่ต้องใช้เครื่องมือซับซ้อนมาก
ต่อ ๆ มาก็มีการนำ IQ มาใช้แพร่หลายมากขึ้นในการคัดคนเข้าระบบอุตสาหกรรม ระบบราชการ ไปจนถึงระบบการศึกษา
ทุกคนเข้าใจว่า คนที่มี IQ สูง คือคนที่เก่งและฉลาด โดยตามมาตรฐานสากลนั้น ค่า IQ ที่ยอมรับกันว่า “ฉลาด” ใช้ได้ต้องอยู่ที่ 100 เพราะการวัด IQ จะวัดจากการจดจำ เช่น จดจำภาพ ตัวหนังสือ แยกแยะเสียง อ่านออกเขียนได้ คิดคำนวนเร็ว มีความแม่นยำและถูกต้อง จึงไม่แปลกที่จะมองว่าคนเหล่านี้คือคนที่ฉลาดมี IQ ที่สูง ทุกคนจึงให้ความสำคัญกับ IQ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิจธิพลต่อการเรียนการสอนทั้งในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย โดยใช้ IQ เป็นตัวชี้วัด ซึ่งมาจากการเรียนแบบท่องจำ ทำแบบฝึกหัด ติวสอบ กวดวิชา ฯลฯ
โลกทุกวันนี้ ก้าวเดินอย่างรวดเร็ว จะให้อยู่แต่ในกรอบเดิม ๆ ก็ไม่มีการพัฒนาใช่มั้ย? ในศตวรรษที่ 21 มีความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมายที่ว่าด้วยศักยภาพความสามารถของมนุษย์ ดังนั้นการวัด IQ จึงไม่ใช่เรื่องหลักที่ควรใช้กับการตัดสินคนรุ่นใหม่อีกแล้ว เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีเลิศล้ำมากมาย สิ่งอำนวยความสะดวกก็หลายสามารถทำงานทดแทนได้ และทำได้ดีกว่าอย่างมหาศาล
โลกต้องการคนที่มีความคิดวิเคราะห์ ประสบการณ์ที่หลากหลายจนสามารถคิดคาดการณ์ คิดสร้างสรรค์หรือคิดนอกกรอบ อย่างมีประสิทธิภาพได้ต่างหาก
ศตวรรษที่ 21 จึงไม่วัดความสำเร็จด้วยกระดาษสอบ เพราะคำตอบที่ทำออกมาได้คะแนนสูงไม่ได้แปลว่าเก่ง แต่เขาจะวัดคนที่ทำงานเป็น เข้ากับคนอื่นได้ง่าย คุยและสานสัมพันธ์กับผู้รู้เรื่อง สามารถทำงานเป็นทีมได้ เป็นผู้นำและมีความรับผิดชอบได้
โลกยุคใหม่ เขาจึงไม่ค่อยพูดถึงเรื่อง IQ กันแล้ว แต่คุยเรื่อง EF (Executive Functions) ซึ่งเน้นไปที่องค์รวมของการคิด การรู้สึก และการกระทำหรือปฏิบัติของคน ดูวิธีคิด กระบวนวิธีในการทำงาน ทักษะการอยู่กับคนอื่น ความสามารถในการจัดการ ความกล้าคิดริเริ่มสิ่งแปลกใหม่ รวมไปถึงการเอื้อเฟื้อมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน
โดย: คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป)