หนูไม่ได้ตั้งใจพูดโกหก
น.พ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล จิตแพทย์เด็ก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เด็กเล็กเช่นนี้ยังไม่ได้มีการพัฒนาแนวคิดหรือนิสัยการพูดโกหกขึ้นมา ต่างจากเด็กที่โตกว่านี้ซึ่งอาจจะเริ่มพูดเรื่องไม่จริงเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น พูดเรื่องไม่จริงบางอย่างเพื่อปกปิดความจริง หรือโกหกเพราะคิดว่าถ้าเรื่องราวเป็นอย่างที่ตนเองแต่งขึ้นคุณพ่อคุณแม่จะรักตนเองมากขึ้น
สับสนระหว่างจินตนาการกับความจริง
เรื่องราวที่เด็กเล่านั้นล้วนเกิดมาจากจินตนาการ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อื่น พวกเขายังไม่สามารถคิดเชื่อมโยงถึงเป้าหมายอื่นของการพูดได้ เช่น หนูน้อยอาจจะบอกว่า ของหายไปเพราะน้องตุ๊กตาเป็นคนเอาไปซ่อน ทั้งๆ ที่ตัวเขานั่นล่ะเป็นคนหยิบไปแล้วก็ลืมไปแล้วว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน พอคุณพ่อคุณแม่ถามหนูน้อยก็เพียงพยายามคิดว่า ใครเป็นคนเอาของสิ่งนั้นไปและเอาไปไว้ที่ไหน หรือเมื่อหนูเล่นจนบ้านเลอะเทอะ พอคุณพ่อคุณแม่ถาม หนูน้อยก็จะบอกว่าน้องหมาที่เลี้ยงไว้ทำบ้านพังเลอะเทอะ เพราะเมื่อถูกถามลูกน้อยจะพยายามคิดหาคำตอบ ดังนั้นเมื่อคิดถึงอะไรได้ก่อน ลูกก็จะพยายามพูดออกมาก่อน หนูน้อยยังไม่สามารถคิดใคร่ครวญกลั่นกรองคำตอบได้เช่นที่เด็กโตหรือผู้ใหญ่ทำ
เทคนิครับมือหนูน้อยนักจินตนาการ
ควรกังวลหรือไม่ เมื่อลูกพูดไม่จริง
สบายใจได้เลยว่านั่นไม่ใช่นิสัยขี้โกหกหรอกค่ะ แต่เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของลูก ซึ่งอยู่ในวัยที่สมองน้อยๆ กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้หนูเกิดจินตนาการได้มากมาย และถ่ายทอดจินตนาการนั้นออกมาเป็นคำพูด ยิ่งเด็กมีจินตนาการมากเท่าใด ก็มีแนวโน้มจะพัฒนาเป็นความฉลาดได้ต่อไปในอนาคต หากได้รับการสนับสนุนให้มีจินตนาการในแนวทางที่เหมาะสม