ปัจจุบันมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น เมื่อเราต้องเจอเหตุการณ์เหล่านี้จนทำให้ฝังใจ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กและผู้ใหญ่ อาจทำให้เกิดโรค PTSD ได้
คือภาวะความผิดปกติทางจิตใจที่เกิดขึ้นภายหลังเจอเหตุการณ์ความรุนแรง เช่น ภัยพิบัติ อุทกภัย แผ่นดินไหว การก่อการจราจล การฆาตกรรม สงคราม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น
สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ประสบเหตุร้ายด้วยตัวเอง เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ หรือเป็นญาติใกล้ชิดกับผู้ประสบเหตุที่ได้รู้ข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำให้เกิดความเครียดและมีพฤติกรรมบางอย่างที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตามมา ซึ่งผู้ที่ได้รับบาดแผลทางจิตใจจำเป็นต้องได้รับการรักษา
คือปัญหาเรื่องการสื่อสารและการแสดงออก เมื่ออาการนี้เกิดขึ้นในผู้ใหญ่จะมีการแสดงอาการที่ตรงไปตรงมา สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมอย่างชัดเจน และยังสามารถอธิบายอาการได้ว่าเขามีความคิดอย่างไร เห็นภาพอะไร หรือกำลังรู้สึกอะไรอยู่แต่เมื่อ 'โรค PTSD' เกิดขึ้นในเด็ก แม้จะมีการแสดงออกทางกายที่เหมือนกับผู้ใหญ่ แต่การสื่อสารและการอธิบายอาการที่เป็นอยู่จะค่อนข้างยาก
สำหรับเด็ก เนื่องจากเด็กยังไม่มีความเข้าใจต่อโรค ไม่เข้าใจสภาวะของตัวเอง และไม่รู้จะสื่อสารอาการของตัวเองออกไปอย่างไร ดังนั้นผู้ปกครองอาจวินิจฉัยโรคได้จากการสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งมักพบว่าเด็กจะเสียทักษะทางพัฒนาการบางอย่างที่เคยทำได้และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง
สาเหตุของ 'โรค PTSD'
1. เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่กระทบต่อจิตใจ
2. ถูกทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดทางเพศ
3. อยู่ในเหตุการณ์ ที่เห็นบุคคลใกล้ชิดบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
4. ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล เป็นต้น
อาการที่อาจพบใน 'โรค PTSD'
1.อาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
2.เห็นภาพเหตุการณ์ซ้ำ หรือฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้น
3.สภาวะทางอารมณ์เปลี่ยนไปมีความรู้สึกผิด แปลกแยกจากสังคม
4.หลีกเลี่ยงสถานที่หรือสิ่งทีทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ
การป้องกัน 'โรค PTSD'
1. หลังประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์
2. เปิดใจกับคนสนิท ที่พร้อมจะรับฟังปัญหา
3. ฝึกทำสมาธิ ด้วยการนั่งสมาธิ เล่นโยคะ หรือนวดเพื่อให้รู้จักผ่อนคลาย
1.การบำบัดทางจิตใจ
เด็กที่ป่วยมักจะมีอาการหลีกเลี่ยงเพื่อปกป้องตนเองจากความรู้สึกเจ็บ ปวดและไม่สบายใจที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ดูเหมือนเด็กไม่มีอาการจึงไม่มารับการบำบัด การรักษาทำได้ด้วยการให้ความรู้สุขภาพจิต การผ่อนคลายร่างกายและอารมณ์ ให้เด็กได้เผชิญกับสิ่งที่กลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยที่เด็กได้รับการฝึกวิธีสร้างความมั่นคงทางจิตใจด้วย แล้วปรับเปลี่ยนความคิดที่ทำให้เกิดความกังวล และฝึกการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งในผู้ป่วยเด็กอาจจะใช้วิธีวาดภาพระบายสี หรือใช้งานศิลปะเป็นสื่อใช้แสดงความรู้สึกต่างๆ ออกมา และเด็กสามารถเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ให้ฟังได้หากเด็กต้องการเล่าเอง โดยไม่พยายามกระตุ้นให้เด็กเล่าเรื่องซ้ำๆ หากเด็กยังไม่รู้สึกปลอดภัยเพียงพอ
2.การรักษาด้วยยา
นอกเหนือจากการรักษาด้วยการบำบัดทางจิตใจแล้ว จิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้าร่วมด้วย โดยยากลุ่มนี้ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์จึงจะเริ่มออกฤทธิ์ และต้องรับประทานยาต่อเนื่องควบคู่กับการทำจิตบำบัดไปด้วย
สรุปแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กหายจากอาการ PTSD หากพ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการเหล่านี้ก็จะช่วยเด็กในเรื่อง การปรับตัว ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ลดตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความเครียด และเป็นที่ปรึกษาในสถานการณ์ที่เด็กอาจกังวลและต้องการความช่วยเหลือ
แพทย์หญิง ชนม์นิภา แก้วพูลศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2