ถ้าเด็กๆ ได้รับการฝึกฝนเรื่อง Self - Monitoring ก็จะมี Self หรือตัวตนในทางบวก เด็กจะรู้ว่าสิ่งที่เขาทำดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ เป็นไปตามแผนงานหรือเปล่า ในขณะที่คนที่มี Self มากเกินไป ก็จะมี ego สูง จะยอมรับคนอื่นไม่ได้ ใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นยาก ไม่พัฒนา เพราะว่าไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นความบกพร่องของตนเองได้ และจะรับได้เฉพาะคำชมหรือความสำเร็จเท่านั้นเอง
ตั้งคำถามและคอยกระตุ้น เหมือนเป็นการช่วยให้เขา Monitor ตัวเอง เช่น รู้สึกอย่างไร คิดอย่างไร
บอกเขาในสิ่งที่เขากำลังทำได้ดี เช่น ชม ปรบมือเมื่อเขาทำบางอย่างเองได้ จะทำให้เขาค่อยๆ รู้จักตัวเอง
เข้าใจและยอมรับสภาวะของเด็ก เช่น เด็กไปดึงหางแมว เรารู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่จะไม่ไปว่าเด็กว่าก้าวร้าว เป็นเด็กไม่ดี รังแกสัตว์ แต่อาจจะพูดว่า ลูกอยากรู้ใช่ไหมว่าแมวรู้สึกอย่างไร ลูกไม่ได้อยากจะรังแกมันใช่ไหมคะ แต่ถึงลูกอยากรู้ เราก็จะไม่ทำแบบนี้นะคะ เพราะแมวมันเจ็บ
การยอมรับสภาวะ ความคิด ความรู้สึก การกระทำของเด็ก จะเป็นตัวที่ช่วยให้เข้าใจเด็ก
อธิบายว่าสิ่งนั้นควรหรือไม่ควรอย่างไร ถ้าอยู่ๆ มีคนมาดึงขาลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร ลูกก็ตกใจใช่ไหม แมวก็เหมือนกัน มันตกใจ มันอาจจะกัดได้นะลูก เด็กจะรับรู้ได้ว่าเราเข้าใจเขา และก็ค่อยๆ ทำให้เขาเห็นพฤติกรรมของตัวเอง ให้เขารู้ว่าเรายอมรับ แต่ไม่ใด้แปลว่าเห็นดีเห็นงามด้วย ยอมรับก่อนว่ามันเกิดขึ้นแล้ว มันมีอยู่จริงแล้ว ค่อยๆ ชี้ให้เห็น โดยการสะท้อนกลับมาที่ตัวเขาเอง ว่าถ้าเป็นลูก ลูกจะรู้สึกอย่างไร
Self Monitoring เริ่มสร้างได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยต้องเริ่มจากการให้เด็กรู้จักก่อนว่า "ตัวเขา" เป็นอย่างไร
เด็กเล็ก : เริ่มแรกพ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน เช่น การที่เขากินข้าวเองได้ แล้วพ่อแม่ชมปรบมือให้ เป็นการบอกเขาว่า ตัวเขามีความสามารถ หรือถ้าเขาจะขึ้นมาขับรถ ก็ต้องบอกเขาว่า ลูกยังเล็กอยู่ ยังทำไม่ได้ ต้องบอกเขาไป จนเขาโต ว่ายังขับรถไม่ได้นะลูก กฎหมายไม่อนุญาต
พ่อแม่ต้องช่วยบอกเขาก่อน ช่วย Monitor ว่าเขาทำอะไรได้ ทำอะไรได้ดี แต่พ่อแม่จะคอยบอกฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้เด็กฝึกการที่จะบอกตัวเองด้วย
เด็กวัย 2-3 ขวบ : การตั้งคำถามกับเด็ก ถามความรู้สึกของเด็ก ถามความคิดเด็ก เช่น เด็กเล่นของเล่นแล้วแย่งของกัน เราต้องถามเขาว่า ลูกชอบไหมที่เขามาแย่งของของลูก หรือลูกรู้สึกอย่างไรที่ไปแย่งของของเขา ทำไมลูกทำอย่างนั้นล่ะคะ ลูกอยากทำอะไร ทำไมลูกทำอย่างนี้ ลองบอกแม่หน่อยซิ ที่ลูกชอบมันจะเป็นอย่างไร แล้วแบบไหนที่ออกมาแล้วลูกไม่ชอบ
การคุยในลักษณะแบบนี้จะทำให้เขาได้กลับไปทวนความคิด ความรู้สึก การกระทำของตัวเอง เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า คนเราต้องคอยถามตัวเอง คอยดูตัวเอง คอยสะท้อนตัวเอง
เด็กวัยอนุบาล : การพูดคุยจะทำให้เข้าใจและรู้ว่าเด็กต้องการความช่วยเหลือตรงไหน เช่น เรื่องการบ้าน ชวนลูกคุยว่ารู้สึกอย่างไรกับการบ้าน การบ้านวันนี้เป็นไงบ้างลูก ถ้าลูกตอบว่า เยอะ ไม่ชอบเลย ไม่อยากการบ้านเลข เราก็ได้รู้ว่า ณ จุดนี้ลูกต้องการความช่วยเหลือ จะได้บอกว่าทำไมเขาต้องทำการบ้านเลข ถ้ามันยาก เรามาลองทำอย่างนี้ดีไหมลูก เราก็ช่วยสอน ช่วยเหลือเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเรื่อยๆ เด็กก็จะรู้จักช่วยตัวเอง ต่อให้เขาไม่ชอบ เขาก็จะต้องรู้วิธีแก้ปัญหาว่ามันคืออะไร
ในแต่ละวัยกระบวนการ Self-Monitoring ก็จะแตกต่างกันไป และเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การให้เด็กรู้จัก Monitor ตัวเอง เพื่อนำไปสู่อะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ Monitor ตรวจสอบว่าวันนี้หนูไม่ยิ้มนะ ใครอย่ามายุ่งกับหนู แต่ต้องให้เด็กมีกระบวนการ เช่น เพื่อนๆ ช่วยทำให้เพื่อนร่าเริงหน่อย ทุกคนไปกอดซิ วันนี้เพื่อนไม่สบายใจ แมวที่เลี้ยงตาย เพื่อนๆ ไปกอดให้กำลังใจหน่อย แบบนี้ก็จะนำไปสู่การรู้จักตัวเองที่มีความหมาย
ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ และทำให้เด็กมีกระบวนการอย่างนี้สม่ำเสมอ เด็กก็โตขึ้นแบบรู้จักตัวเอง ได้เห็นปัญหา ไม่กลัวปัญหา และรู้จักแก้ปัญหา ทำให้รู้สึกดีกับตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ และรู้ว่าตัวเองจะต้องแก้อะไรบ้าง ถ้าเป็นลบก็จะระมัดระวัง รักษาสมดุล เพราะบางเรื่องเราแก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่เราคอยจัดการกับสถานการณ์นั้นได้ คนที่จะประสบความสำเร็จได้ดีต้องมีสิ่งเหล่านี้ค่ะ