เด็กแต่ละคนเติบโตมามีความคิด พฤติกรรม และการใช้ชีวิตที่ต่างกัน เพราะแต่ละครอบครัวมีสไตล์การเลี้ยงลูกที่ต่างกัน ไดอานา บอมรินด์ (Diana Baumrind) นักจิตวิทยาคลินิกและพัฒนาการชาวอเมริกัน ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเด็กและรูปแบบการอบรมเลี้ยงดูมาอย่างยาวนาน ทำให้สามารถแบ่งรูปแบบการเลี้ยงลูกได้ 4 แบบ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและอนาคตของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ดังนี้
เป็นการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ไม่ให้ความสนใจหรือไม่ตอบสนมองความต้องการของลูก ไม่มีความเอาใจใส่มากพอ การเลี้ยงดูแบบนี้จะเพิกเฉย ไม่มีกฏ ไม่มีข้อบังคับ ไม่มีการเรียกร้องหรือคาดหวังให้ลูกปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการปฏิเสธลูกตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น เช่น ไม่แสดงออกทางความรัก กอด ให้กำลังใจลูก ไม่สนใจปัญหาของลูก ปล่อยให้ลูกอยู่ด้วยตัวเอง เป็นต้น
การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง อาจมีมาจากหลายสาเหตุ เช่น พ่อแม่หมกหมุ่นกับการทำงานมากเกินไป มีความเครียด มีปัญหาของตัวเองที่หาทางแก้ไม่ได้ หรือมีความกดดันในชีวิต จึงทำให้ละเลยการดูแลลูก
เป็นการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่เข้มงวด เคร่งครัด หรือมีความเผด็จการ พ่อแม่มีกฏเกณฑ์ ควบคุม และมีความคาดหวังสูง บางครั้งเป็นการกำหนดชีวิตให้เลยว่าจะต้องเดินไปทางไหน ทำอะไร อย่างไร และห้ามผิดเพี้ยนไปจากที่พ่อแม่กำหนดไว้ โดยไม่มีการอธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงต้องให้ทำตาม ดังนั้น ลูกจะรู้สึกกลัวอยู่ตลอดเวลา กลัวทำผิดพลาด กลัวโดนทำโทษ
การเลี้ยงลูกแบบควบคุม เผด็จการ มักเกิดจากพ่อแม่ที่มีความคาดหวังสูง อยากรักษาความสมบูรณ์แบบของครอบครัวให้ได้เกินมาตรฐานของสังคม รักษาหน้าตาตัวเอง หรืออาจเกิดจากความหวังดีแต่ได้ผลร้ายแบบพ่อแม่รังแกฉัน เช่น ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่อาจทำไม่ได้ เลยใส่ความคาดหวัง ความสมบูรณ์แบบทั้งหมดมาที่ลูก
เป็นการเลี้ยงลูกด้วยการปล่อยให้ลูกทำอะไรตามใจตัวเอง โดยพ่อแม่ไม่ห้าม ไม่มีกฏเกณฑ์ แถมบางครั้งยังสนับสนุน หรือเชียร์ให้ลูกทำตามใจตัวเอง แม้จะเป็นการทำผิดก็ไม่มีการลงโทษใด ๆ เด็กถึงแสดงออกทั้งความรู้สึก อารมณ์ได้อย่างเปิดเผย เช่น ร้องเมื่อไม่ได้ดังใจจนพ่อแม่ต้องตามใจ เป็นต้น พ่อแม่เองแม้จะรู้ว่าผิด มีการตักเตือนและสอน แต่ก็ไม่มีอำนาจทำให้ลูกเชื่อฟัง พ่อแม่ Stand by พร้อมตอบสนองลูกทันทีที่ลูกร้องขอ หรือ ทำให้เลยโดยไม่ต้องรอลูกร้องขอ
การเลี้ยงลูกแบบตามใจ สปอยล์ มักเกิดจากพ่อแม่รักลูกมาก กลัวลูกลำบาก อยากให้ลูกสบาย หรือมีความคิดว่าลูกต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด จึงทำให้พ่อแม่ตอบสนองลูกแบบทันที ซึ่งการเลี้ยงลูกแบบตามใจอาจทำให้ “ลูกสำลักความรัก” เพราะได้มากไปจนย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองได้ในอนาคต
เป็นการเลี้ยงลูกที่พ่อแม่สนับสนุนให้ลูกมีพัฒนาการตามวัยของเขา ให้อิสระในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมีขอบเขตและกติการ่วมกัน มีการให้เหตุผล รับฟังกัน การเลี้ยงลูกแบบนี้มีความคาดหวังอยู่ในตัวแต่ไม่เคร่งครัดหรือบังคับมากจนเกินไป มีการให้ความรักและความอบอุ่น ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ได้รับการเติมเต็มทางจิตใจ กล้าเป็นตัวของตัวเอง
การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่และอบอุ่น มักเกิดจากพ่อแม่ที่มีข้อตกลงในการเลี้ยงลูกร่วมกัน เลี้ยงไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีลูกเป็นศูนย์กลาง เข้าใจนิสัย พฤติกรรม และพัฒนาการของลูก ซึ่งแม้จะมีกฏเกณฑ์ ขอบเขต ลูกก็จะยอมรับและไม่กดกัน การเลี้ยงลูกแบบปล่อยปละละเลย ทอดทิ้ง แบบควบคุม เผด็จการ แบบตามใจ สปอยล์ลูก เป็นลักษณะของ “ครอบครัวบกพร่องหน้าที่ – Dysfunctional Family” นั่นคือพ่อแม่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างถูกต้องในการเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว ผลักภาระซึ่งกัน ไม่มีกติกา และไม่สามารถยืดหยุ่น สลับปรับเปลี่ยนหน้าที่กันเองได้ เช่น พ่อจะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่หาเงิน เป็นผู้นำเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องรับฟังลูกเหมือนที่แม่ทำ เป็นต้น
ในขณะที่การเลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่และอบอุ่น เป็น Functional Family ที่พ่อแม่รู้หน้าที่ในการเลี้ยงลูกที่ไม่ใช่เป็นของคนใดคนหนึ่ง ต้องช่วยกันได้ สลับหน้าที่กันได้ โดยมีความสุข ความปลอดภัยและพัฒนาการที่ดีของลูกเป็นสำคัญค่ะ
ในความเป็นจริง แต่ละครอบครัวไม่ได้มีรูปแบบการเลี้ยงลูกที่ตายตัวอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 100% นะคะ แต่จะมีความผสมผสาน ปรับเปลี่ยนไปตามนิสัย พฤติกรรม สภาพแวดล้อม ความคิดในแต่ละช่วงเวลาค่ะ