เวลาที่คนเราจะจดจ่ออะไรสักอย่าง เราจะต้องมีการจดจำว่าเราจดจ่อเพื่ออะไร จำได้ว่าทำไมเราต้องจดจ่อ เช่นเวลาที่คุณครูบอกเด็กๆ ว่า “นั่งทำงานเงียบๆ นะเด็กๆ ทำเสร็จเดี๋ยวครูมาตรวจ” คำว่า ทำงานเงียบๆ ทำให้เสร็จ จะกลายเป็นความจำที่อยู่ในสมอง เด็กจะจำคำสั่ง และรู้ว่าทำไมตัวเองถึงต้องจดจ่อทำงานให้เสร็จ
นอกจากนั้นต้องมีความยั้งใจ เมื่อเด็กรู้ว่าเราต้องทำงานนี้ให้เสร็จ เดี๋ยวคุณครูจะกลับมาตรวจ เด็กก็จะต้องจดจ่อกับคำสั่งนี้ และยั้งใจของตัวเองว่าจะไม่ไปทำในสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือคำสั่งนี้ เช่น เพื่อนชวนไปวิ่งเล่น เด็กก็จะบอกเพื่อนว่า คุณครูบอกว่าให้ทำงานให้เสร็จ เขาก็จะไม่ไปวิ่งเล่น
1. การรู้คำสั่ง รู้ความหมายของการที่จะต้องจดจ่อ เช่น เด็กรู้ว่าครูสั่งให้ทำงานให้เสร็จ ครูจะกลับมาตรวจ เด็กก็จะจดจ่อทำสิ่งนั้น
2. เป็นเรื่องที่ชอบ เวลาที่เด็กทำอะไรด้วยความชอบ เช่น ชอบต่อบล็อก วาดรูป เล่นเกม เขาก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำ มีไอเดียที่จะทำ อยากทำ สนุกกับการต่อโน่นต่อนี่ หรือทดลองรื้อใหม่ ถ้าเขามีความสุข ก็จะมี Attention กับสิ่งนั้นได้ดี
3. การมีเป้าหมาย เช่น ถ้าเด็กรู้ว่าเขาวาดรูปนี้สำเร็จ เอาไปให้แม่ ก็จะตั้งใจวาดตั้งใจทำ ดังนั้นเป้าหมายของเขาคือ "จะให้" รูปที่วาดกับแม่ ไม่ใช่เป็นการวาดรูปเพียงอย่างเดียว มีความหมายที่มากกว่า เช่น อยากทำดีให้แม่ชื่นใจ
4. มีความสงสัยใคร่รู้ ความอยากรู้ของเด็กจะทำให้เด็ก มีใจจดจ่อ พ่อแม่ต้องค่อยๆ เติม ค่อยๆ กระตุ้นความอยากรู้ เด็กจะได้ทั้งฝึก Attention และตอบโจทย์ความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งของมนุษย์เหมือนกัน ที่จะทำให้มีความช่างคิดวิเคราะห์ ช่างสังเกตเกิดขึ้น
ให้เด็กได้ใช้เวลากับตัวเองเงียบๆ เช่น ต่อบล็อก เล่นทราย วาดรูป ระบายสี ตัดกระดาษ ฉีกกระดาษ เป็นต้น
สร้างเสริมประสบการณ์ในบ้าน เช่น พาลูกไปเดินเล่นดูต้นไม้ดูรอบๆ บ้าน ดอกไม้ ต้นไม้ ก้อนหิน ทำนู่นทำนี่ที่จะชวนให้เขาจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะที่นาน การจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะที่นานนั้นต้องตื่นตัว สำหรับเด็กคือต้องให้เขาเคลื่อนไหวอย่างจดจ่อ หยิบ จับ เล่น แต่เป็นการเคลื่อนไหวบนความจดจ่ออยู่ในเรื่องเหล่านั้น
มีตัวช่วยในการเรียนรู้ ไม่ต้องเป็นของเล่นสำเร็จ แต่เป็นของใกล้ตัวก็ได้ เช่น เก็บใบไม้มารูปร่างแปลกๆ มาเรียง ชวนลูกทำกับข้าว เล่นหม้อข้าวแกง เป็นต้น
อย่าไปคาดหวังว่าต้องได้ชิ้นผลงาน แต่ควรปล่อยลูกเล่นอิสระในพื้นที่ที่ปลอดภัย วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่อันตราย เช่น กระดาษหนึ่งแผ่นสองแผ่น ช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ฯลฯ เด็กก็เล่นได้ ไม่จำเป็นต้องวาดรูปออกมาหนึ่งชิ้น หรือต้องประดิษฐ์สิ่งของได้หนึ่งอย่าง
การที่เด็กจดจ่อหมายความว่ามีเรื่องราวอะไรที่เขาสนใจ เด็กกำลังเรียนรู้อะไรบางอย่าง กำลังเก็บรับประสบการณ์ ทำความรู้จักกับสิ่งๆ นั้น กำลังพัฒนาคอนเซ็ปต์เกี่ยวสิ่งเหล่านั้นในสมอง
เมื่อเด็กมี Attention เขาจะมีระยะเวลาของการคิดที่เป็นกระบวนการ พูดง่ายๆ คือคอนเซ็ปต์ของสิ่งเหล่านั้นกำลังเกิดขึ้นในสมอง เกิดการเรียนรู้ ทำให้ได้พัฒนาความอยากรู้อยากเห็น ทำให้เขารู้จักการแก้ปัญหา ถ้าเขาตั้งใจและใส่ใจกับมัน เขาก็จะทำงานสำเร็จได้ เด็กจะแก้ปัญหาได้ จะเข้าใจและเห็นกระบวนการ ที่สำคัญเขาจะมีความสุข เพราะเขาจัดการสิ่งที่เขาทำได้ หรือได้ผลงานออกมา และได้คำชมจากพ่อแม่นั่นเอง