การสอนให้รู้จักวางแผน จะช่วยให้ลูกพัฒนาความสามารถในการคิด การแก้ปัญหา ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นทักษะในการจัดการชีวิตอย่างเป็นระบบได้ในอนาคต ซึ่งพ่อแม่สามารถชี้แนะ เป็นผู้ส่งเสริมให้เขาเข้าใจและฝึกฝนการวางแผนง่ายๆ ในชีวิตประจำวันได้
1. กิจวัตรประจำวันก่อนไปโรงเรียน โดยวันจันทร์-ศุกร์ให้จัดตารางสิ่งที่ลูกต้องทำให้เกิดเป็นความเคยชินและเป็นระบบระเบียบ เริ่มจากลูกต้องตื่นกี่โมง วางแผนการอาบน้ำแปรงฟัน ซึ่งสำหรับเด็กนั้นอาจไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก
พ่อแม่อาจหากระดานติดไว้ในที่ที่เห็นได้ชัด เช่น ห้องนั่งเล่น เพื่อช่วยเตือนสิ่งที่ลูกต้องทำ โดยอาจให้ลูกมีส่วนร่วมในการคิดด้วย เช่น ให้เขาวาดการ์ตูน หรือหาการ์ตูนที่ชอบมาแปะตกแต่งและเขียนกิจวัตรที่ต้องทำในแต่ละวัน ก็จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำตามแผนได้มากขึ้น เพราะหากมีแรงจูงใจลูกก็จะอยากเตรียมตัว อยากทำด้วยตัวเองจนเกิดความเคยชินในที่สุด
2.ทบทวนแผนก่อนนอน พูดคุยกับลูกสักครึ่งชั่วโมงก่อนนอน เช่น วันนี้หนูเรียนอะไรมาบ้าง เพื่อนที่โรงเรียนน่ารักมั้ย เพื่อเป็นการสร้างความรักความผูกพันกันก่อนนอน
ที่สำคัญอย่าลืมชวนลูกทบทวนตารางเวลาที่เราต้องทำพรุ่งนี้ เช่น 7 โมง หนูต้องแปรงฟันใช่มั้ย แล้วหลังจากนั้นต้องทำอะไรต่อนะ ลองให้เขานึกภาพตามกระดานตารางที่เขามีส่วนร่วมในการกำหนดด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นแผนที่เราสอดแทรกเข้าไปในกิจวัตรประจำวัน เป็นการฝึกระเบียบวินัยให้ลูกได้ และลูกเองก็รู้สึกว่าได้ใช้เวลากับพ่อคุณแม่อย่างเต็มที่ด้วยค่ะ
3.ฝึกวางแผนง่ายๆ ในครัว ชวนลูกทำขนมที่เขาชอบด้วยกัน เช่น วุ้นสีสวย ลองให้เข้าคิดเองเลยว่าอยากให้วุ้นเป็นสีอะไร มีวิธีทำอย่างไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็มาลองดูว่าที่บ้านมีวัตถุดิบเหล่านั้นหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ชวนลูกออกไปซื้อด้วยกัน เป็นการวางแผนการจ่ายตลาด ลูกก็จะได้ฝึกจำคำทั้งศัพท์ และได้ฝึกกระบวนการคิดวางแผนว่ากว่าจะเป็นวุ้นเราต้องใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง จะต้องมีขั้นตอนอย่างไร ที่สำคัญควรให้เขาได้ลงมือทำจริงด้วยตัวเองนะคะ
4.วางแผนการออมเงิน วัยอนุบาลสามารถฝึกเรื่องการออมเงินได้ค่ะ โดยให้ลูกตั้งเป้าหมายในการออมเงินว่าจะออมเพื่ออะไร เช่น ให้ลูกเก็บเงินซื้อการ์ตูนเรื่องใหม่ด้วยตัวเอง เราก็จะได้ดูวิธีที่เขาใช้ในการเก็บเงิน ลูกอาจบอกว่าวันนี้จะไม่กินขนม ไม่ซื้อของเล่นอื่น เพื่อเป้าหมายใหญ่ หรือเป้าหมายที่ตัวเองต้องการในระยะยาว
เมื่อลูกวางแผนเสร็จแล้ว พ่อแม่จะต้องติดตามผลของการกระทำของลูกด้วยว่าเขาสามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้าได้ก็ให้ชมเชยตามสมควร แต่ถ้าลูกทำไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปตำหนิ แต่ควรให้กำลังใจเพื่อให้เขาอยากทำให้ได้จนสำเร็จ พอลูกเริ่มโตก็ลองให้โจทย์ที่ยากและท้าทายขึ้นเพื่อฝึกทักษะเชาว์ปัญญา การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น
5.แผนที่ดีก็ยืดหยุ่นได้ หากเป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ตารางกิจวัตรประจำวันของลูกอาจยืดหยุ่นได้มากขึ้น เช่น ตื่นสายได้มากขึ้น หรือเข้านอนช้ากว่าวันที่ต้องไปโรงเรียนได้ นอกจากนี้เราอาจเพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกาย เช่น การขี่จักรยาน หรือชวนกันออกไปข้างนอกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการเรียนรู้ ซึ่งแผนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความสนใจของลูก และตามความเหมาะสมค่ะ
1.พัฒนาทักษะการคิดและเชื่อมโยง การวางแผนจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ที่สำคัญช่วยพัฒนาทักษะความคิดที่เป็นระบบ แยกแยะหมวดหมู่ เชื่อมโยงเหตุการณ์และการใช้เหตุผลได้
2.เพิ่มพูนทักษะความจำ การพูดคุยกับลูกโดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน จะช่วยเตือนความจำระยะสั้นในแต่ละช่วงวัน ก่อนจะเก็บเป็นความทรงจำได้ในระยะยาวค่ะ ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถช่วยเหลือตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้
3.ส่งเสริมระเบียบและวินัย หากลูกสามารถวางแผนได้ดี ก็จะสามารถสื่อสารผ่านคำพูดและการกระทำอย่างเป็นระเบียบแบบแผนได้ดีไปด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานให้ลูกสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงที่ได้รับ และวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลในเรื่องสำคัญต่างๆ เมื่อโตขึ้นได้