1. ตอบคำถามลูกด้วยคำถาม ไม่ใช่การปัดความรับผิดชอบค่ะ หากแต่เป็นการกระตุ้นให้ลูกคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง เช่น เมื่อลูกถามว่าทำไมน้ำทะเลถึงเค็ม พ่อแม่อาจตอบลูกว่า แล้วลูกคิดว่าทำไมล่ะ จากนั้นอาจจะต่อยอดด้วยการชวนลูกหาข้อมูลจากที่ต่างๆ เช่น สถานที่จริง พิพิธภัณฑ์ หนังสือ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น
2. ชวนลูกหาคำตอบด้วยกิจกรรมที่เข้าใจง่าย บางคำถามพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องตอบก็ได้ แต่ให้ลูกได้หาคำตอบเอง เช่น ทำไมรถถึงเคลื่อนไปข้างหน้า แทนที่จะตอบว่าเพราะมีคนขับ หรือเพราะเราเติมน้ำมัน แต่ถ้าหากิจกรรมวิทยาศาสตร์สนุกๆ เกี่ยวกับเรื่องแรงและการเคลื่อนที่มาทดลองเล่นกับลูก นอกจากจะได้คำตอบสนุกๆ ที่สร้างสรรค์แล้ว ยังกระตุ้นให้ลูกสนใจวิทยาศาสตร์ด้วย
3. ตั้งคำถามกับลูกจากเรื่องใกล้ตัว “อะไร ทำไม ยังไง” เช่น ทำไมหมาต้องเห่าด้วย ลูกอาจจะตอบว่าเพราะหมาเห็นคนแปลกหน้า หมากำลังดีใจ หรือมีคนร้าย ตามแต่ประสบการณ์ของเขา แล้วพ่อแม่อาจจะถามต่อว่าต้องทำอย่างไรให้หมาหยุดเห่า ลูกก็จะคิดหาคำตอบและวิธีแก้ปัญหา
4. ชวนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น ทำอาหาร ทำของใช้ DIY ในระหว่างขั้นตอนการทำจะได้พูดคุยกัน อย่างการทำอาหาร ให้ลูกลองชิม แล้วถามว่าอร่อยหรือยัง อยากใส่อะไรเพิ่มอีก หรือคุณแม่แนะนำส่วนประกอบต่างๆ ทำให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ และกระตุ้นให้เกิดการถามตอบ เป็นการพัฒนาทักษะการพูดได้ดี
5. ตั้งคำถามสร้างจินตนาการ เพราะการใช้จินตนาการก็เหมือนการบริหารสมองอย่างหนึ่ง ลองถามคำถามที่ดูเกินจริงหรืออยู่ในโลกสมมติบ้างเช่น ถ้าเหาะได้ หนูจะเหาะไปที่ไหน ถ้ามีพลังแบบเจ้าหญิงเอลซ่าหนูจะทำยังไง ถ้าโดราเอม่อนมีจริง อยากได้ของวิเศษอะไรที่สุด
เจ้าหนูจำไมอาจน่าเบื่อบ้าง แต่เพราะนั่นคือพัฒนาการตามวัยของเขา บางครั้งหากตอบคำถามลูกไม่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรือต้องหงุดหงิดค่ะ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าคำตอบก็คือกระบวนการให้ได้มาซึ่งคำตอบ นั่นคือการเรียนรู้ระหว่างทาง