ชีวิตคนเรามีทั้งสมหวังและผิดหวัง ความผิดหวังอาจเป็นความพ่ายแพ้อย่างหนึ่งที่ทำให้คนเรารู้สึกเสียใจ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งชีวิตของเราจะล้มเหลวและต้องแพ้ตลอดไป เด็กหลายคนรู้จักการแพ้ชนะผ่านการเล่นเกม กีฬา บางคนดีใจเมื่อได้ชัยชนะ และยอมรับความพ่ายแพ้ได้ ขณะที่เด็กบางคนประสบการณ์การใช้ชีวิตอาจยังไม่มากพอ เมื่อเล่นเกมกีฬาแพ้ก็ย่อมรู้สึกเสียใจมากเป็นธรรมดา
ทั้งที่จริงแล้วชีวิตเขายังต้องเผชิญกับความสมหวังและผิดหวังอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การงาน สังคม หรือแม้แต่เรื่องความรัก ลูกยังต้องเรียนรู้ที่จะผิดหวัง และเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้อีกมาก ซึ่งลูกจะรับมือกับความพ่ายแพ้ได้มากน้อยแค่ไหน พ่อแม่ต้องเป็นคนฝึกฝนทักษะนี้ให้เขา
พ่อแม่ไม่ควรยอมลูกเสมอไป
แม้ลูกจะดีใจที่สามารถเล่นเกมชนะพ่อแม่ แต่บางครั้งก็ต้องหัดให้ลูกแพ้บ้าง ให้เขายอมรับความจริงว่าการแข่งขันมีแพ้ชนะ และความพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ที่สำคัญพ่อแม่ต้องไม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าแพ้ไม่ได้ เช่น เมื่อลูกเล่นเกมแพ้แล้วใช้คำพูดเยาะเย้ยถากถาง หรือแซวลูก เพราะนั่น จะทำให้ลูกรู้สึกอาย โกรธ และแพ้ไม่เป็น
ชื่นชมผู้ชนะด้วยใจจริง
การสอนให้ลูกมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย อาจเป็นนามธรรมที่สอนยาก แต่ถ้าทำให้ลูกเห็นจนเป็นกิจวัตร ลูกจะซึมซับได้เอง เช่น การกล่าวชื่นชมผู้อื่นด้วยความจริงใจ ไม่เปรียบเทียบ หรือประชดประชัน เช่น คนที่ได้ที่หนึ่งเขาเก่งมากเลยนะ ส่วนวันนี้หนูเองก็เก่งมากเช่นกัน ไม่ชนะไม่เป็นไร เราไปพยายามกันใหม่นะ
ไม่กดดันลูกเกินไป
ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม แข่งขัน เล่นกีฬา พ่อแม่ไม่ควรคาดหวังกับลูกจนเกินไป เพราะลูกจะรู้สึกว่าพ่อแม่คาดหวังกับเขา เขาจะแพ้ไม่ได้ แต่หากเปลี่ยนความคาดหวังว่าลูกต้องเล่นกีฬาชนะเป็นการชื่นชมที่ลูกเล่นกีฬา ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แพ้ชนะไม่สำคัญ สำคัญที่ลูกได้ใช้ความพยายามและความสามารถของตนเอง ได้ทำในสิ่งที่รัก พ่อแม่ก็มีความสุขแล้ว ลูกจะมีความสุขกับสิ่งที่ทำมากกว่าต้องแข่งเพื่อชัยชนะ
ถ้วยรางวัลไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตลูก
พ่อแม่หลายคนชอบให้ลูกแข่งขัน และมักคิดว่าเป็นท้าเลนท์ของลูก แต่บ่อยครั้งเข้าอาจจจะถลำไปเป็นการล่ารางวัล ล่าชัยชนะ และคาดหวังความสำเร็จของลูกโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่น่ากลัวคือพ่อแม่บางคนพยายามให้ลูกได้รับชัยชนะจนลืมกฎ กติกา การแข่งขัน หากทำแบบนี้บ่อยๆ นอกจากลูกจะเสพติดชัยชนะแล้ว ลูกอาจจะซึมซับแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมด้วย
ความพ่ายแพ้คือภูมิคุ้มกัน
เมื่อลูกเผชิญกับความพ่ายแพ้ แน่นอนว่า ณ ขณะนั้นลูกย่อมรู้สึกผิดหวัง เสียใจ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการพูดคุย ปลอบโยนลูก ให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขา หากลูกรู้สึกโกรธ โมโห ควรรีบกอดลูกทันที และเมื่อลูกอารมณ์ดี ทำใจยอมรับความพ่ายแพ้ได้แล้ว พ่อแม่สามารถคุยกับลูกได้ว่าลูกพลาดตรงไหน เราจะนำมาปรับปรุงอะไรได้บ้าง หรืออาจชี้ให้เห็นว่านักกีฬาบางคนเขาแข่งแพ้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชีวิตเขาจะสิ้นหวัง เพราะเขาก็ยังคงซ้อมและแข่งขันต่อไป ไม่ชนะวันนี้ วันหนึ่งเขาก็ชนะ
เด็กที่แพ้ไม่เป็น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกตามใจมาตั้งแต่เล็ก ซึ่งจะมีความเสี่ยงในการใช้ชีวิตเมื่อโตขึ้น เพราะนอกจากลูกจะรับมือกับความผิดหวังไม่ได้แล้ว ยังมีปััญหาต่อกาารควบคุมอารมณ์ ความก้าวร้าว บางคนอาจแสดงอาการต่อต้าน โวยวาย ร้องห่มร้องไห้ หรือบางคนเมื่อผิดหวังมากๆ อาจซึมเศร้าเสียใจจนเกินกว่าเหตุ เพราะฉะนั้น ให้ลูแพ้บ้างก็ได้ค่ะ
"รักวัวให้ผูก รักลูกให้เลี้ยงด้วย EF" ขอบคุณความรู้ EF โดย สถาบัน RLG