เปลี่ยนเด็กโมโหร้าย เป็นเด็ก "โอ้โหน่ารัก" ด้วย 3 เทคนิคสไตล์ EF
ลูกขี้โมโหร้าย ถ้าไม่พอใจขึ้นมาจะเกรี้ยวกราด ชอบขว้างของ เอาหัวโขกพื้น หรือนอนดิ้นไถกับพื้น เรามาช่วยลูกควบคุมอารมณ์ตัวเองด้วยเทคนิค EF กันค่ะ
เปลี่ยนเด็กโมโหร้าย เป็นเด็ก "โอ้โหน่ารัก" ด้วย 3 เทคนิคสไตล์ EF
ทำไมลูกถึงโมโหร้าย
พฤติกรรมการแสดงอารมณ์ร้อนของเด็ก ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- อยู่ในวัยที่แสดงความเป็นตัวเอง แต่ยังสื่อสารได้ไม่เต็มที่จึงแสดงออกมาทางอารมณ์
- ไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ไม่ได้ดั่งใจ หรือ เคยทำแบบนี้แล้วได้จึงทำมาเรื่อย ๆ
- พฤติกรรมเลียนแบบ เช่น เคยเห็นคนใกล้ชิดทำเลยทำตาม เห็นจากสื่อต่าง ๆ เป็นต้น
- พื้นฐานอารมณ์เป็นคนร้อนอยู่แล้ว เมื่อได้รับการกระตุ้นเล็กน้อยก็ระเบิดอารมณ์ได้ง่าย
ลูกโมโหร้าย เกรี้ยวกราด พ่อแม่จับมือกับช่วยลูกได้นะคะ อย่าเพิ่งคิดว่าจะเป็นนิสัยติดตัวเขาไปจนตัวจนถอดใจไม่ช่วย เพราะเด็ก ๆ ยังสามารถพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะทักษะสมอง EF (Executive Functions) ในเรื่องการควบคุมอารมณ์ รู้จักอารมณ์ตัวเอง ยืดหยุ่นความคิด และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมค่ะ
3 เทคนิคช่วยลูกควบคุมอารมณ์ด้วย EF
- พ่อแม่ต้องมีสติและอย่าเพิ่งสอนในตอนที่ลูกโกรธ ถือว่าเป็น EF สำหรับพ่อแม่เช่นกันค่ะ เพราะเมื่อลูกอารมณ์ร้ายเกรี้ยวกราด คุณพ่อคุณแม่บางคนก็ใจเตลิดเล่นไปตามเกมอารมณ์ลูกเช่นกัน กลายเป็นว่าไปดุด่า ร้อนใส่ลูกซ้ำลงไปอีก ดังนั้น พ่อแม่ต้อง "ควบคุมสติและอารมณ์ตัวเอง" ให้ได้ก่อน
จากนั้น "อย่าเดินหนี" ให้อยู่ข้าง ๆ ลูกโดยไม่ยังไม่จำเป็นต้องพูดอะไร อาจจับมือลูก ลูบหัว ลูบตัว หรือกอดไว้ เพื่อให้เขาค่อย ๆ สงบลงด้วยความรู้สึกปลอดภัยว่าพ่อแม่ไม่หายไปไหน เมื่อเย็นลง(ทั้งพ่อแม่ลูก) ก็ถึงเวลาคุยกันค่ะ
- บอกให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่รู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร เวลาลูกโกรธ เขาจะไม่รู้ว่าอารมณ์นั้นเรียกว่าอะไร คืออะไร เราจำเป็นต้องบอกให้ลูกรู้ เช่น "แม่รู้ว่าหนูไม่ได้ดั่งใจ หนูโกรธอยู่ แม่เข้าใจนะ" "หนูโกรธมากเยใช่ไหมลูก" ควรใช้เสียงที่นุ่มนวล แต่หนักแน่นะคะ เพื่อเป็นการเตือนให้เขารู้ว่า อารมณ์ที่ทำไปเรียกว่าโกรธ โกรธจนร้องไห้ ร้องดิ้ม ปาข้าวของ เมื่อเขารู้จักอารมณ์นี้แล้วก็จะทำให้จำว่าต่อไปเมื่อโกรธอีก จะตามมาด้วยสิ่งที่ไม่ควรทำ และนำไปสู่ควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นความคิดเพื่อลดความโกรธนั้น
- ชวนคิดชวนคุย "ถ้าโกรธ เราจะทำยังไงกันดีนะ" เป็นขั้นตอนการช่วยให้ลูกคิดหาทางออกเมื่อโมโหหรือโกรธในแบบที่เขาสามารถทำได้ในช่วงอายุนั้น ๆ เช่น ครั้งหน้าถ้าหนูโกรธ หนูวิ่งมาหาแม่นะ เราจะ..... กันนะ เป็นต้น คุณแม่ลองให้ลูกเสนอไอเดีย ถามสิ่งที่ลูกชอบแล้วนำสิ่งนั้นมาปรับใช้กับลูกค่ะ
ทักษะสมอง EF ที่ลูกได้เรียนรู้
- Emotional Control การควบคุมอารมณ์ - อุ๊ย ฉันโกรธแล้วนะ หายใจลึก ๆ ก่อน
- Inhibitory Control ยั้งคิดไตร่ตรอง - เดี๋ยวก่อน! ถ้าปาของเสียหาย ไม่มีใช้แน่เลย คุณแม่เสียใจแย่เลย
- Shift / Cognitive Flexibility ยืดหยุ่นความคิด - งั้นเอางี้ ออกไปเดินเล่นดูต้นไม้กับเจ้าหมาน้อยบูบู้แป๊บนึงก่อน
- Initiating ริเริ่มและลงมือ - ต้องฝึกประจำ ถ้ายังทำไม่ได้ก็ต้องตั้งใจฝึกอีก เปลี่ยนวิธีอื่นอีก
- Self Monitoring ติดตาม ประเมินตัวเอง - ครั้งแรกยังทำได้ไม่ดี งั้นลองใหม่ / ครั้งนี้เราทำได้ดีมากเลย จำเอาไว้ใช้ไปเรื่อย ๆ นะ