เมื่อลูกป่วยสภาพร่างกายและจิตใจของลูกจะเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เด็กอาจอ่อนเพลีย กินอาหารได้น้อยลง หรือไม่อยากกินอะไรเลย ร้องไห้ งอแง ซึม เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ที่เมื่อร่างกายไม่สบายจิตใจก็ไม่นึกอยากกินอะไร ในช่วงที่ลูกป่วยนี้พ่อแม่จึงต้องจัดเตรียมอาหารสำหรับลูกเป็นพิเศษ และคอยเอาใจใส่ให้ลูกกินอาหารให้เพียงพอเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
สำหรับการป่วยแต่ละอย่าง อาหารที่จัดให้เด็กอาจต้องมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปบ้าง
ซุปไก่แก้หวัด
โรคหวัดเป็นโรคยอดฮิตในเด็ก และเป็นได้บ่อยเกือบตลอดทั้งปี พบว่าเป็นกันมากในช่วงฤดูฝน หวัดไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ต้องเอาใจใส่ในการดูแลรักษาพอสมควร เมื่อเป็นหวัดเด็กมักจะกินอาหารได้น้อยลง อ่อนเพลีย การรักษาโรคหวัดที่ดีที่สุด คือ พักผ่อนให้มาก กินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดื่มน้ำเยอะๆ ซึ่งควรจะเป็นน้ำอุ่น เพราะน้ำเย็นจะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายชะลอตัวลง ในขณะที่น้ำร้อนหรือน้ำอุ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการคั่งของทางเดินหายใจได้ดี ช่วยให้ชุ่มคอ และการสูดไอน้ำเข้าทางจมูกยังช่วยทำให้อาการคัดจมูกลดลง หรือจะทำเป็นน้ำมะนาว น้ำมะตูมหรือน้ำผลไม้อุ่นๆ ก็ได้
อาหารที่บรรเทาโรคหวัดและโรคทางเดินหายใจได้อีกอย่างหนึ่งนั่น คือซุปไก่ ซุปไก่ในที่นี่คุณแม่สามารถทำ เองได้ หรือหาซื้อได้ตามร้านอาหารทั่วไป เพราะในซุปไก่มีกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่ทำหน้าที่คล้ายยาที่ช่วยในการรักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ สามารถลดอาการไอ และเจ็บหน้าอกจากโรคหวัดได้ ในเด็กโตหน่อยอาจเติมหอม กระเทียมสับละเอียด และพริกไทยลงไปในซุปไก่ด้วยก็ได้ เพราะหอม กระเทียมก็มีสรรพคุณในการบรรเทาอาการหวัด ได้ และการกินซุปไก่เพื่อบรรเทาอาการหวัดนั้นควรตักจิบทีละช้อนช้าๆ
เด็กที่เป็นหวัดมักเบื่ออาหารนอกจากซุปไก่แล้ว ควรจะให้ลูกดื่มน้ำเต้าหู้ น้ำแกง น้ำผลไม้มากๆ เพื่อทำให้น้ำมูกไม่เหนียวข้น และช่วยให้เด็กสดชื่น
ลูกเป็นไข้มักเบื่ออาหาร
เด็กที่เป็นไข้จะเบื่ออาหาร บางครั้งอาจมีอาการอาเจียน หรือปวดท้องร่วมด้วย ทำให้กินอาหารและน้ำน้อยลง ซึ่งการขาดน้ำและอาหารยิ่งทำให้เด็กอ่อนเพลียและมีไข้สูงยิ่งขึ้น พ่อแม่จึงควรพยายามให้ลูกดื่มน้ำหรือของเหลวอื่นๆ เพิ่มให้มากขึ้น เพื่อป้องกันเซลล์ของร่างกายขาดน้ำและเพื่อช่วยลดไข้ด้วย เช่น ให้ดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำแกง ซุป นม หรือน้ำเต้าหู้
ส่วนอาหารอื่นๆ ในช่วงนี้ควรเป็นอาหารอ่อน หรืออาหารเหลวๆ เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย เป็นอาหารที่มีน้ำเพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายย่อยและดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้เร็วขึ้น ควรเป็นอาหารที่มีกากใยน้อยเพื่อไม่ให้ทำความระคายเคืองแก่ระบบทางเดินอาหารด้วย เช่น โจ๊กเละๆ ที่ไม่ข้นมาก หรือข้าวต้ม ใส่เนื้อสัตว์บดละเอียด เช่น หมูบด ไก่บด เป็นต้น หรือถ้าจะให้อาหารปกติก็อาจจะเป็นข้าวกับแกงจืด เพื่อให้ลูกได้รับสาร อาหารที่ครบถ้วนฃ
แต่ปัญหาก็คือ เด็กที่เป็นไข้มักจะปฏิเสธอาหารทุกชนิด ดังนั้นเวลาให้ลูกกินอาหาร ไม่ควรคะยั้นคะยอให้ลูกกิน แต่ควรป้อนหรือให้เด็กค่อยๆ กิน ได้ นอกจากนี้การให้อาหารเด็กที่เป็นไข้ควรให้ครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งจะดีกว่า เพราะเด็กที่มีอาการไข้ จะมีความต้องการพลังงาน โปรตีน และสารอาหารอื่นๆ สูงกว่าคนปกติ ใน ระยะมีไข้สูงควรให้อาหารเหลวก่อน เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยให้อาหารอ่อน แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นอาหารธรรมดาที่มีคุณค่าสูง
อาหารระบายท้องสำหรับลูกท้องผูก
อาการท้องผูกในเด็กอาจเกิดจากการดื่มนมมากเกินไป ดื่มน้ำน้อยเกินไป หรือกินอาหารที่มีเส้นใย เช่น พวกผัก ผลไม้น้อยเกินไป
การป้องกันท้องผูกในเด็ก คือ ให้ดื่มน้ำนมแม่ หรือชงนมในอัตราส่วนที่พอเหมาะ ไม่ชงข้นเกินไป ให้ดื่มน้ำผลไม้ หัดให้เด็กกินผัก ผลไม้มากๆ ถ้าลูกมีอาการท้องผูกมาก อาจจะให้ดื่มน้ำลูกพรุน เพราะน้ำลูกพรุนมีสรรพคุณในการระบายได้ดี
ในเด็กโตควรให้เด็กกินอาหารประเภทที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อผนังลำไส้ใหญ่ทำงาน ได้แก่อาหารที่มีกากใยมาก เช่น ผัก ผลไม้สด ข้าวซ้อมมือ หรือแทนที่จะให้เด็กกิน ขนมปังธรรมดาอาจเปลี่ยนเป็นขนมปังแบบโฮลวีทที่มีเส้นใยมากแทนขนมปังขาวธรรมดา เป็นต้น
ลูกท้องเสียงดอาหารดีไหม
อาการท้องเสียตรงข้ามกับท้องผูก ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปอย่างรวดเร็ว ในระยะที่มีอาการท้องเสียเฉียบพลัน ต้องให้เด็กนอนพักผ่อนให้เต็มที่ ถ้าเด็กสูญ เสียน้ำมากควรให้เด็กดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย ควรงดอาหารแข็ง อาหารรสจัด และอาหารที่มีกาก เมื่ออาการท้องเสียทุเลาจึงให้อาการเหลวใส อาหารเหลวข้น หรืออาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น น้ำข้าวใส่เกลือ ซุปใส ข้าวต้ม โจ๊ก หรือให้น้ำหวาน ในเด็กที่ท้องเสียไม่ควรงดอาหารเพราะจะทำให้เด็กขาดอาหารและอ่อนเพลีย
สำหรับน้ำเกลือแร่ที่จะให้ทดแทนน้ำนั้นให้ผสมผงน้ำตาลเกลือแร่ขององค์การเภสัชกรรมกับน้ำสุก ให้ดื่มต่างน้ำบ่อยๆ ครั้งละ 1-2 ถ้วย หรือจะใช้น้ำเกลือผสมเองก็ได้ โดยใช้น้ำสุก 1 ขวด (ขนาดขวดแม่โขงกลม หรือขวดน้ำปลา) ผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ และเกลือป่น 1/2 ช้อนชา หรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ (ใส่เกลือ 1/2 ช้อนชา ลงในน้ำข้าว 1 ขวด)
ในเด็กเล็กควรงดให้นมผสมสัก 2-4 ชั่วโมง แล้วค่อยเริ่มให้นมผสมได้ตามปกติ ส่วนในเด็กที่กินนมแม่ให้กินนมแม่ได้ตามปกติ หลังป่วยเด็กก็ควรได้รับอาหารที่ให้มีพลังงานสูง เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ แป้งและน้ำตาล เพื่อฟื้นฟูร่างกายที่อ่อนแอจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่
การดัดแปลงอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ และให้เหมาะสมกับอาการป่วยของเด็กมีความสำคัญมาก เพราะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแออวัยวะต่างๆ ต้องการพักผ่อน ในขณะ เดียวกันร่างกายก็ต้องการสารอาหารเพื่อการฟื้นฟูร่างกายด้วยเช่นกัน ดังนั้นอาหารสำหรับเด็กป่วยจึงต้องไม่เป็นภาระให้กระเพาะอาหารหรือร่างกายต้องทำงานหนัก ควรเป็น อาหารที่ย่อยง่าย ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้ง่าย แต่ยังคงมีสารอาหารที่มีประโยชน์ในการช่วยซ่อมแซมความเสื่อมโทรมของร่างกาย เพราะขณะที่ป่วยเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายจะเสื่อมโทรมหรือสลายตัวลงไปมาก อาหารที่มีประโยชน์ต้องเข้าไปช่วยทดแทนในส่วนนี้ให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น