พ.ญ.ดุษฎี อัครเมธาทิพย์ กุมารแพทย์ หน่วยพัฒนาการเด็ก วชิรพยาบาล นำประสบการณ์ที่ได้พบกับคุณพ่อคุณแม่หลากหลายรูปแบบมาเล่าสู่กันฟัง พร้อมคำแนะนำ การปฏิบัติในการพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดสำหรับเจ้าตัว เล็กของคุณค่ะ
"จำไม่ได้แล้วค่ะว่าป่วยตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นไข้ก็รีบพามาหมอนี่ล่ะค่ะ"
Doctor Advice:
การตอบคำถามถึงอาการลูกนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรตอบให้ตรงประเด็นและกระชับที่สุด ไม่วกไปวนมาหรือแบบชักแม่น้ำ ซึ่งการตอบให้ตรงคำถามนั้นมาจากการที่คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการป่วยของลูก เคยเจอกรณีถามไปว่า "ลูกไม่สบายตั้งแต่เมื่อไหร่" "โห เป็นมานานแล้วค่ะคุณหมอ กินยาแล้วยังไม่หายเลยค่ะ" อันนี้หมอก็เลยไม่รู้ว่า นานของแม่นี่เป็นมากี่วันหรือกี่ชั่วโมงกันแน่ ควรตอบแค่ว่า "เป็นมาสองวัน" หรือ "เป็นมาตั้งแต่เสาร์ที่แล้วค่ะ" โดยส่วนมากคุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกว่า มีข้อมูลอยากจะเล่าและไม่รู้ว่าข้อมูลนี้สำคัญหรือเปล่า ถ้าไม่เล่าเดี๋ยวลูกจะถูกวินิจฉัยผิด ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถเล่าได้นะคะแต่ควรเล่าให้กระชับ ถ้าคุณหมอเห็นว่าสำคัญก็จะซักถามต่อเอง
"อย่าร้อง เงียบ เงียบเดี๋ยวนี้นะ!! เดี๋ยวให้หมอจับฉีดยาเสียเลย"
Doctor Advice:
กรณีที่ลูกร้องจ้าตั้งแต่หน้าประตูห้องตรวจ คุณพ่อคุณแม่มักจะกระสับกระส่ายด้วยความกังวลและเกรงใจคุณหมอ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ต้องเกรงใจค่ะ คุณหมอเด็กส่วนใหญ่จะเข้าใจถึงการร้องไห้ของเด็กคุณพ่อคุณแม่ควรอุ้มหรือกอด ลูกไว้ แล้วอยู่ในอาการที่สงบนิ่ง เพราะยิ่งกระสับกระส่ายเด็กก็จะรู้สึกถึงความกังวลใจและรู้สึกไม่มั่นคงและ ยิ่งทำให้ร้องไห้หนักขึ้น แต่หากลูกร้องไห้ไม่ยอมให้ตรวจอาจจะให้คุณพ่ออุ้มลูกออกนอกห้องตรวจก่อน เพื่อให้คุณแม่ฟังคำอธิบายอาการและวิธีการดูแลลูกที่บ้านอย่างละเอียด
"ฮัลโหล...ว่าไงคะ อ๋อเรื่องที่ประชุมเมื่อวานเหรอคะ เป็นอย่างนี้ค่ะ...."
Doctor Advice:
อันนี้ไม่ควรทำอย่างมาก ควรปิดโทรศัพท์ให้เรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจนะคะ เพราะในขณะที่กำลังมีสมาธิในการฟังคำอธิบายของคุณหมออยู่ ถ้าเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น การสนทนาก็จะขาดตอนทันที ทำให้ตัวคุณพ่อคุณแม่เองขาดสมาธิ แล้วการรับข้อมูลจากคุณหมออาจจะไม่ครบถ้วนไม่ต่อเนื่องได้
"ขอยาแก้เจ็บคอ แก้หวัด แล้วก็ยาลดไข้ด้วยนะคะคุณหมอ"
Doctor Advice:
ในคนไข้ที่มาโรงพยาบาลบ่อยๆ หรือคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลมากเกินไปบางคน หมอยังตรวจไม่ทันเสร็จก็มักจะสั่งให้หมอสั่งยาที่ต้องการให้ เช่น พาลูกมีอาการไอ เจ็บคอมาตรวจ ก็มักจะขอยาแก้อักเสบให้ลูก คุณหมอหลายท่านก็อาจจะสั่งให้เพื่อตัดความรำคาญ เพราะถ้าไม่สั่งให้ก็มักไม่ยอมและเสียเวลาคุยกันยาว กรณีนอกจากจะทำให้ลูกได้รับยาเกินความจำเป็นแล้ว หากเป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะหรือยาแก้อักเสบก็จะทำให้ดื้อยาได้ด้วย แล้วโดยส่วนมากคุณหมอก็มักจะไม่อยากตรวจคนไข้ลักษณะเช่นนี้อีก ข้อแนะนำคือ คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นๆ ให้คุณหมอได้ตรวจอาการลูกก่อน แล้วค่อยขอความเห็นคุณหมอว่า ให้ยาแก้อักเสบกินได้หรือไม่ จะดีกับสุขภาพของลูกที่สุดค่ะ
"ลูกผมก็มีอาการอย่างที่เห็น คุณหมอจะรักษาวิธีไหน"
Doctor Advice:
มีคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับคุณหมอบางคน ทำให้เวลาที่ต้องพาลูกมาพบหมอก็จะสร้างกำแพงให้ตัวเองไว้ก่อน บางท่านอาจจะแสดงท่าทีชัดเจนทั้งยืนกอดอก ไม่ยอมนั่งเก้าอี้ ถามคำตอบคำ ตอบคำถามห้วนๆ พออธิบายอะไรไปก็มักจะไม่ค่อยสนใจฟังทำหน้าเซ็งๆ
ซึ่งต้องบอกว่าการรักษาที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้นต้องได้รับการร่วมมือ อย่างดีจากคุณพ่อคุณแม่ หากสร้างกำแพงมาก่อนไม่ว่าหมออธิบายอย่างไรก็จะไม่เชื่ออยู่ดี เป็นการทำให้เสียเวลาในการมาตรวจ ผลเสียก็จะกลับมาที่ลูกโดยไม่รู้ตัว คุณหมอที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มี แต่ส่วนใหญ่คุณหมอทุกท่านมีเจตนาอยากให้ผู้ป่วยหายจากโรคทุกคน ดังนั้นอย่าสร้างกำแพงกับคุณหมอคนใหม่ เพราะจะทำให้การรักษาของลูกไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ค่ะ
คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ทราบแล้วนะคะ ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ควรเลี่ยงขณะมาพบคุณหมอ ทราบแล้วเปลี่ยน... เพราะสุดท้ายการร่วมมือกันทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณหมอจะช่วยให้ลูกมีอาการดี ขึ้นในเร็ววัน แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใด รักษาสุขภาพให้แข็งแรงไว้จะเป็นดีที่สุด ขอให้เด็กๆทุกคนสุขภาพแข็งแรงนะคะ
Advise from Doctor: เตรียมตัวก่อนพบคุณหมอ