‘โรคภูมิแพ้’ คือโรคที่ร่างกายมีความไวต่อสารกระตุ้น ซึ่งก็คือ ‘สารก่อภูมิแพ้’ มากกว่าปกติ สำหรับโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเด็กคือ โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหืด และแพ้อาหาร ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบันพบว่าการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
สาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่สำคัญมีอยู่ 2 สาเหตุใหญ่คือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม สำหรับกรรมพันธุ์นั้นหากคุณพ่อ คุณแม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกย่อมมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้สูงกว่าเด็กที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมรอบตัวของลูกนั้น เราสามารถจัดการและควบคุมสิ่งแวดล้อมไม่ให้ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งคุณแม่สามารถเตรียมตัวได้ตั้งแต่ก่อนคลอด ระหว่างคลอดและหลังจากที่ลูกคลอดออกมาแล้ว ดังนี้ค่ะ
คุณแม่ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลายครบ 5 หมู่ โดยไม่ทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินกว่าปกติ เช่น ดื่มนมวัววันละเป็นลิตร หรือทานไข่วันละ 2-3 ฟองทั้งที่ปกติไม่ค่อยได้ทาน เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้อาหารชนิดนั้นกับลูกได้
เนื่องจากมีการศึกษาว่าการผ่าคลอด ทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคภูมิแพ้ มากกว่า การคลอดทางช่องคลอด เพราะในช่องคลอดของคุณแม่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเรียกว่า โพรไบโอติก ( Probiotics ) อยู่ปริมาณมาก เมื่อทารกเคลื่อนตัวผ่านทางช่องคลอด ระหว่างการคลอดก็จะได้สัมผัสกับโพรไบโอติกนั้นเข้าไปในปากและผ่านลงไปในลำไส้ของทารก ซึ่งจะไปช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดีของทารก สร้างสมดุลการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้เป็นปกติ ลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้
จึงเป็นที่มาว่า ทารกที่เกิดจากการผ่าคลอด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคภูมิแพ้ มากกว่า การคลอดธรรมชาติเพราะไม่ได้สัมผัสโพรไบโอติกทางช่องคลอดคุณแม่ดังกล่าว ทั้งนี้คุณแม่บางท่านอาจจำเป็นต้องผ่าคลอดด้วยข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น เคยมีประวัติผ่าคลอดมาก่อน หรือมีภาวะเสี่ยงหากคลอดทางช่องคลอด คุณแม่ก็อาจลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้แก่ลูกได้ในช่วงระยะเวลาการให้นมหลังคลอด ซึ่งหมอจะกล่าวต่อไปค่ะ
เมื่อคุณแม่คลอดทารกน้อยออกมาแล้วไม่ว่าจะด้วยวิธีใด มีการศึกษาวิจัยที่พบว่า หากให้ทารกได้ทานนมแม่เพียงอย่างเดียว ในช่วงระยะเวลา 4-6 เดือนแรกของชีวิต ก็จะลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ให้กับลูกได้ เนื่องจากน้ำนมแม่มีพรีไบโอติก ( Prebiotics ) ซึ่งเป็นใยอาหารสุขภาพของโพรไบโอติก จุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกายในลำไส้ใหญ่ ก็จะยิ่งเสริมสร้างภูมิต้านทานของทารกให้สมดุลและลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ นอกจากนี้ในนมแม่ยังมีโปรตีนบางส่วนที่ผ่านการย่อย ทำให้ขนาดโมเลกุลของนมลดลง จึงลดโอกาสในการกระตุ้นให้เกิดการแพ้อีกด้วย
ทั้งนี้ หากมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว และคุณแม่ไม่สามารถให้ลูกทานนมแม่ได้ด้วยข้อจำกัดทางด้านสุขภาพต่าง ๆ ก็สามารถขอคำแนะนำจากคุณหมอเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรตีนที่ผ่านการย่อยแล้วบางส่วน Hypoallergenic (HA) ซึ่งช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ ตามคำแนะนำของแนวทางป้องกันโรคภูมิแพ้จากสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย และยิ่งเสริมด้วยโพรไบโอติก ซึ่งเป็น จุลินทรีย์ที่ดี ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ทารก ลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ และเสริมสร้างภูมิต้านทานที่ดีได้เช่นกันค่ะ
นอกจากเรื่องของนมแล้ว เมื่อลูกน้อยอายุครบ 6 เดือน คุณแม่และคุณพ่อควรให้ลูกได้ทานอาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ไม่ควรเริ่มอาหารช้ากว่าวัยอันควร ให้ลูกได้สัมผัสกับอาหารที่หลากหลายที่เหมาะกับทารก โดยเริ่มจากอาหารกลุ่มที่ไม่เสี่ยงต่อการแพ้ก่อน ส่วนอาหารที่เสี่ยงต่อการแพ้ เช่น อาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง แป้งสาลี และอาหารทะเล ก็ควรจะค่อย ๆ เริ่มทานในเวลาต่อมา และสังเกตว่ามีอาการแพ้หรือไม่
การเริ่มให้ลูกได้สัมผัสกับอาหารตามวัยที่เหมาะสมก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ จะเห็นได้ว่าคุณแม่และคุณพ่อสามารถลดโอกาสในการเกิดโรคภูมิแพ้ให้กับลูกน้อยได้ ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนการคลอด ระหว่างการคลอด และหลังจากการคลอดออกมาแล้วเลยทีเดียว แม้ว่าพันธุกรรมจะมีผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ แต่การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการป้องกันโรคภูมิแพ้ให้กับลูกน้อย เราก็สามารถทำได้ โดยคุณแม่ คุณพ่อและสมาชิกทุกคนในครอบครัวมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากค่ะ
เมื่อลูกมีร่างกายที่แข็งแรง เค้าก็พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาไปได้อย่างเต็มศักยภาพนั่นเองค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยตัวเองได้เลยที่ https://www.nestlemomandme.in.th/sensitive-expert
ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพระรามเก้า
พื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์