สูบบุหรี่ในบ้านผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562
หากมีคนในบ้านสูบบุหรี่ ต่อไปนี้คือผิกกฎหมายนะคะ เพราะจากการสำรวจของ ศจย. ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับ ยิ่งในบ้านที่มีเด็กเล็กยิ่งน่าเป็นห่วงค่ะ
ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า เด็กทารกที่มีผู้ปกครอง
สูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49 % มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ขณะนี้มีการออก
พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน คือ วันที่ 20 ส.ค. 2562 ซึ่ง
การสูบบุหรี่ในบ้านจะสามารถเอาผิดได้ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากคำนิยามของความรุนแรงในครอบครัวนั้น รวมถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย
หากได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถร้องไปศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ที่มีอยู่ทุกจังหวัด หรือ พม.จังหวัดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และให้บุคลากรทางการแพทย์พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่
หากได้รับผลกระทบจริง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยศาลสามารถสั่งให้ออกห่างจากคู่กรณีและให้ไปบำบัดรักษาปรับพฤติกรรมได้ ส่วนโทษความรุนแรงในครอบครัว จะใช้คดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาแทน ซึ่งโทษขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ เรียกว่า 1 คดีส่งขึ้น 2 ศาล ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่บุหรี่ แต่การได้รับผลกระทบจากยาเสพติดหรือสุราก็สามารถร้องเอาผิดได้
ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในบ้านทำให้คนในบ้านได้รับผลกระทบจาก
ควันบุหรี่มือสอง และเมื่อสารพษตกค้างตามเสื้อผ้า ผนัง เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็จะได้รับสารพิษเหล่านี้ด้วย เรียกว่ารับ
ควันบุหรี่มือสาม
ดังนั้น ควันบุหรี่ถือเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้สูบบุหรี่ในบ้าน สูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ หรือสูบนอกบ้านแล้วกลับเข้ามา ก็ยังคงมีสารพิษตกค้างอยู่ภายในบ้านได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจศูนย์เด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 122 ครัวเรือน พบว่า มีผู้สูบบุหรี่อาศัยอยู่กับเด็ก ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นการสูบบุหรี่นอกบ้าน
จากการตรวจ
สารโคตินินในปัสสาวะของเด็ก พบปริมาณสารสูงถึง 2 นาโนกรัมต่อซีซี ถึง 16% แต่จากการให้เข้าบำบัดด้วยโปรแกรมเลิกบุหรี่ พบว่า 1 ใน 3 ประสบความสำเร็จในการลดเลิกสูบบุหรี่ ขณะที่การเก็บข้อมูลผู้ป่วยเด็กที่มาฉีดวัคซีนที่ รพ.รามาธิบดี จำนวน 75 ราย ที่มีประวัติมีคนในบ้านสูบบุหรี่ พบว่า 76% เจอสารโคตินินในปัสสาวะของเด็ก โดยจำนวนนี้ 43% มีค่าสูงเกิน 2 นาโนกรัมต่อซีซีถึง 2 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการอาศัยเป็นยูนิทรวม เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ทาวน์เฮาส์ และหากคนในบ้านสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน ก็จะเจอสารโคตินินในปัสสาวะเด็กมากกว่าเกือบ 2 เท่าเช่นกัน
รู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้แล้วนะคะ หากวันที่ 20 สิงหาคม หากยังมีการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือนอกบ้าน แล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพคนในครอบครัว สามารถแจ้งเอาผิดเพื่อไปบำบัดได้เลยค่ะ
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
เตือนภัย! หลังลูกน้อยป่วยหนัก หอบ ปอดหาย เพราะควันบุหรี่ที่ติดเสื้อพ่อ!!
อันตรายมาก แม่ท้องสูบหรือสูดควันบุหรี่ 1 มวน น้ำหนักลูกในท้องหายไปเท่าไหร่เช็คเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก :
mgronline.com