คุณแม่ทราบไหมคะว่า ฝุ่น PM 2.5 ขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศอันตรายกับลูกเล็กของเรามาก เมื่อลูกหายใจเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปไม่ว่าจะทางจมูกหรือปาก เจ้าฝุ่นร้ายก็จะเข้าไปถึงถุงลมของปอด ซึมเข้าสู่กระแสเลือดแล้ววิ่งไปทั่วอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของปอด หัวใจ พัฒนาการทางสมอง และสุขภาพในระยะยาวได้เลยนะคะ ดังนั้นฝุ่น PM 2.5 จึงไม่ได้ก่อให้เกิดอาการแพ้ชั่วครั้งชั่วคราวอย่าง ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือ แสบตาเท่านั้น แต่อาจเป็นตัวการที่ทำให้ลูกเราเป็นโรคภูมิแพ้ หรือหอบหืดในระยะยาวได้ค่ะ
คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matter ซึ่งเป็นหน่วยวัดขนาดของอนุภาคที่อยู่ในอากาศ ฝุ่น PM2.5 คืออนุภาคสารแขวนลอยในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผมมนุษย์ ฝุ่นขนาดเล็กนี้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันถึงหลายสัปดาห์และสามารถถูกพัดพาไปได้ไกลถึง 100-1,000 กิโลเมตร โดยฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด อาทิเช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การก่อสร้างและการเผาทำลายป่าหรือกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งเป็น สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศ
ฝุ่น PM2.5 สามารถดูดซับสารพิษอื่น เช่น โลหะหนัก สารก่อมะเร็งได้ด้วย หากเราไม่ได้ป้องกันตัวเองให้ดีก็สามารถเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาภูมิคุ้มกัน โดยในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายจากฝุ่นสามารถผ่านไปถึงลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง
การหายใจเอาฝุ่นละออง มลภาวะจำนวนมากเข้าไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
-ระยะสั้น ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก แสบจมูก ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก เมื่อตรวจสมรรถภาพปอดก็พบว่าลดลง เนื่องจากมีการอักเสบต่อเนื่อง เกิดอาการกำเริบของโรคทางเดินหายใจ เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ผื่นแพ้ เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ หูอักเสบ เป็นต้น
-ระยะยาว ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย โรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจด้วย
เมื่อลูกน้อยเจ็บป่วยบ่อย ๆ จากโรคทางเดินหายใจที่มีฝุ่น PM2.5 เข้ามากระตุ้น สิ่งที่ต้องเผชิญนอกจากความเจ็บป่วยแล้ว ยังได้รับผลกระทบอื่น ๆ ตามมาอีก ได้แก่
● ส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ เมื่อเจ็บป่วยบ่อยหรือมีอาการรุนแรงจนต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้เด็ก ๆ ขาดเรียน เรียนไม่ทันเพื่อน มีความเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง ไม่อยากไปโรงเรียน ทักษะการเล่นหรือการเรียนรู้ก็ถูกจำกัดจากปัญหาสุขภาพ
● ส่งผลต่อการนอนหลับพักผ่อน บ่อยครั้งที่อาการไอ จาม หอบเหนื่อย รบกวนการนอนหลับของลูก ทำให้เด็ก ๆ พักผ่อนไม่เพียงพอหรือไม่มีประสิทธิภาพ
● สร้างความเครียด เป็นเด็กก็เครียดได้ค่ะ เพราะเมื่อร่างกายเจ็บป่วย จิตใจก็ย่อมป่วยตามไปด้วย รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับโรค ก็ทำให้เด็กประสบภาวะความเครียดได้เช่นกัน
● ส่งผลต่อเรื่องการกิน เด็กที่มีอาการทางเดินหายใจ มักไม่ค่อยอยากรับประทานอาหาร ทำให้มีโอกาสได้รับสารอาหารไม่พอต่อความต้องการ
1.โรคภูมิแพ้อากาศ หรือเยื่อบุโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) คือโรคที่มีการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูก เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปแล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฎิกิริยาตอบสนองมากผิดปกติ สารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อย เช่น ไรฝุ่น เกสร เชื้อรา แมลงสาบ รังแคสัตว์ ฯลฯ นอกจากนั้นสารระคายเคือง เช่น ฝุ่น มลพิษในอากาศ ควันบุหรี่ อาจมีผลรบกวนจมูกและยิ่งทำให้อาการของโรคแย่ลง
ส่วนใหญ่เริ่มแสดงอาการในเด็กวัยเรียนและเด็กที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้อง
เมื่อผู้ป่วยสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคือง จะทำให้มีอาการ จามติด ๆ กันหลายครั้ง คันจมูก น้ำมูกใส ๆ ไหลและคัดจมูก อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น คันตา น้ำตาไหล ปวดศีรษะ หูอื้อ ฯลฯ
ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีโรคหืดร่วมด้วยประมาณ 1 ใน 3 ดังนั้นเด็กที่มีอาการภูมิแพ้อากาศอาจจะต้องได้รับการตรวจหาอาการของโรคหืดด้วย
2.โรคหืด (Asthma) เป็นภาวะที่มีการอักเสบเรื้อรังของทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากหลอดลมมีภาวะไวต่อการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่าง ๆ มากผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อรอบหลอดลมหดเกร็ง เยื่อบุผิวของหลอดลมบวมน้ำ และเยื่อบุผิวของหลอดลมมีการสร้างเสมหะมากขึ้น นำไปสู่อาการไอ เหนื่อย หายใจลำบากตามมา
เด็กที่เป็นโรคหืดมักมีอาการไอ (ไอเวลาวิ่งเล่นออกกำลังกาย, ไอเวลาเจอสิ่งกระตุ้น เช่น ควันบุหรี่ ฝุ่นละออง ไรฝุ่น, ไอตอนกลางคืน) แน่นหน้าอก ตอนหายใจออกจะมีเสียงวี้ด ๆ และจะหายใจเร็วกว่าปกติ หรือหายใจแล้วหน้าอกบุ๋มในตำแหน่งของช่องซี่โครง หรือด้านหลังของลำคอด้วย
1.หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไม่ออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งในภาวะที่อากาศเต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 และให้ลูกอยู่ในบ้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ควรเลือกทำกิจกรรมในบ้านทดแทน อาจจะพิจารณาติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างของบ้านให้มิดชิด และเปิดพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อากาศหมุนเวียน
2. หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านควรหาหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 มาให้ลูกใส่ และเมื่อกลับเข้ามาในบ้านควรรีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย
3. ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ทราบว่า ความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมหาวิธีการป้องกันลูกน้อย
4. ลดความเสี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น หมั่นทำความสะอาดบ้านและบริเวณรอบ ๆ ให้ปราศจากฝุ่น ทำความสะอาดห้องน้ำ เครื่องปรับอากาศ เพื่อลดการเกิดเชื้อราในอากาศ ทำความสะอาดเครื่องนอนของใช้ลูกอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ การสัมผัสอากาศร้อน เย็น เกินไป ถ้าลูกน้อยไวต่ออะไร ก็ควรหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น
5. การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
6. การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ
7. การได้รับโภชนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย เช่น การได้รับนมแม่ ตั้งแต่แรกเกิด เพราะนอกจากจะเต็มเปี่ยมไปด้วยโภชนาการที่ทารกต้องการแล้ว มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าการกินนมแม่โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ได้
แต่ในบางกรณีที่มีความจำเป็นทำให้คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง คุณแม่สามารถขอคำปรึกษาจากแพทย์ในเรื่องของ โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วนที่ทำจากเวย์ 100% หรือ H.A. (Hypoallergenic) ตามคำแนะนำจากแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย พ.ศ.2563
นอกจากนั้นในทุกช่วงวัย ควรให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน ช่วยเสริมสร้างการทำงาน ของระบบภูมิคุ้มกันของลูกให้ดียิ่งขึ้น
จะเห็นว่าไม่ใช่แค่ฝุ่น PM2.5 เท่านั้นที่มากระตุ้นอาการภูมิแพ้ของลูกน้อยแต่ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น สิ่งแวดล้อมในบ้าน การดูแลสุขอนามัยและโภชนาการของลูก ดังนั้นการป้องกันปัจจัยที่เข้ามาทั้งจากภายในและภายนอก คุณพ่อคุณแม่ช่วยได้ ไม่ยากค่ะ
อยากรู้ว่าลูกน้อยมีความเสี่ยงภูมิแพ้แค่ไหน ทำแบบทดสอบเบื้องต้นได้เลยที่ https://www.nestlemomandme.in.th/sensitive-expert/sensitive-check
#SensitiveExpert #ผู้เชี่ยวชาญด้านความบอบบางของลูกน้อย
ตรวจสอบข้อมูลโดย : พญ. สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลเวชธานี
พื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์