ลูกจิตใจดี หรือ'ขาดทักษะการปฏิเสธ' มาสอนลูกให้ใจดีแบบแฮปปี้กัน
เป็นเรื่องดีที่ลูกเราเป็นเด็กมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อแบ่งปัน แต่ถ้าลูกเราเป็นเด็กใจดีเกินไปจนอาจดูว่าลูกขาดทักษะการปฏิเสธล่ะ คุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไร เพราะถ้าปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้เป็นปัญหาในอนาคตได้
แบบนี้เรียกว่าจิตใจดี
- เป็นเด็กที่มีเมตตา มีน้ำใจ แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองมีแก่คนรอบข้าง
- เป็นเด็กที่นึกถึงใจเขาใจเรา ชอบทำให้เพื่อนมีความสุข
ซึ่งการที่ลูกใจดีแบบนี้ หากลูกแบ่งปันเพื่อนที่โรงเรียน เขาจะกลับมาเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจ อารมณ์ดี รู้สึกเชิงบวกในการแบ่งปัน ถ้าลูกแบ่งปันคนในครอบครัว เวลามีคนถามถึงหรือพ่อแม่ถาม เขาจะเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
ใจดีแบบนี้ มีปัญหา
- กลับมาเล่าให้ฟังด้วยความรู้สึกไม่ดี เพราะแบ่งเพื่อนจนหมด จนตัวเองไม่มีเหลือ
- หากพ่อแม่ถาม แล้วลูกเล่าด้วยอารมณ์หรือความคิดเชิงลบในการแบ่งปันเพื่อน
- ลูกโดนสั่งหรือบังคับให้แบ่ง ไม่ได้แบ่งให้เพื่อนด้วยความเต็มใจ
- แบ่งปันสิ่งของที่ไม่ได้เป็นของตัวเอง
การแบ่งปันเป็นเรื่องไม่มีข้อจำกัดในตัว ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละคนและแต่ละครอบครัวด้วยค่ะ
แต่ถ้าลูกใจดีมากเกินไป นั่นอาจหมายถึง...
- ลูกขาดทักษะการปฏิเสธ เช่น ไม่อยากให้เพื่อน อยากเก็บไว้กินเองหรือเล่นเอง แต่บอกเหตุผลไม่ได้ หรือไม่รู้จะบอกยังไง เป็นต้น
- ขาดทักษะการแก้ปัญหา เช่น ขนมเหลือชิ้นสุดท้าย แต่เหลือเพื่อนอีก 1 คน และตัวลูก ลูกจึงจำใจให้เพื่อนไป ทั้งที่แบ่งคนละครึ่งชิ้นก็ได้ เป็นต้น
- ขาดทักษะการรักษาสิทธิ เช่น อยู่บ้านลูกอาจจะเล่นได้ทุกอย่าง พอไปอยู่ที่โรงเรียนจึงคิดว่าของทุกอย่างเป็นของตัวเอง เลยแจกจ่ายของที่ไม่ใช่ของตัวเองแก่เพื่อนๆ เป็นต้น
ในอนาคตหากลูกไม่ได้รับการฝึกทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ อาจนำไปสู่การแบ่งปันหรือการใจดีเพื่อจุดประสงค์อื่นเมื่อลูกโตขึ้นได้ เช่น ให้เพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนยอมรับในตัวเขา เป็นการแบ่งปันเพื่อผลประโยชน์อื่นๆ
------------------------------------------------------------------------
สอนลูกให้ใจดีแบบแฮปปี้
- ปล่อยให้ลูกตัดสินใจเอง ว่าอยากแบ่งอะไร ให้ใคร เมื่อไหร่ เพราะการสั่งหรือบังคับจากพ่อแม่ ครู และคนในครอบครัวไม่เป็นผลดีต่อตัวลูก เนื่องจากจะทำให้ลูกรู้สึกหวงสิ่งของที่เป็นของเขามากขึ้น การโต้ตอบของลูกก็จะแรงขึ้นเรื่อยๆ
- สอนทักษะผ่านพ่อแม่ เพราะเด็กในวัยนี้ ยังเป็นวัยที่เรียนรู้จากการเลียนแบบคนที่ใกล้ชิดที่สุด นั่นคือพ่อแม่
- หากที่ผ่านมาเวลาอยู่บ้าน พ่อแม่ไม่เคยปฏิเสธ ไม่เคยแก้ปัญหา ไม่เคยรักษาสิทธิให้ลูกเห็น ก็ลองจำลองเหตุให้ลูกเห็นบ่อยๆ เช่น พ่อจะเอาของแม่ไปใช้ แม่ไม่ให้ เพราะอะไร พูดคุยกันให้ลูกได้ยิน ต่อจากนั้นพ่อไม่ยอม แม่ทำอย่างไรต่อ เป็นต้น
- สอนผ่านการพูดคุย ให้ลูกเล่าเหตุการณ์ที่เขาเจอ แล้วลองให้ลูกแก้ปัญหาเองก่อน จากนั้นคอยถามลูกว่าปัญหาได้รับการแก้ไขหรือไม่อย่างไร หากไม่ แม่อาจแนะนำลูกโดยการยกตัวอย่างที่สิ่งแม่เคยเจอ การแก้ปัญหาที่ไม่ได้ผล และการแก้ปัญหาที่ได้ผล ให้ลูกเอาไปปรับใช้ตามใจเขา
- อ่านนิทานที่สอนเกี่ยวกับทักษะเหล่านี้ให้ลูกฟังก่อนนอน หรืออาจสอนผ่านช่วงเวลาที่เล่นกับลูก
- ความต่อเนื่องคือเรื่องสำคัญ ไม่มีทางที่สอนลูกแค่ครั้งสองครั้ง แล้วลูกจะทำได้สำเร็จ เพราะลูกยังอยู่ในวัยเรียนรู้ และทดลองทำ ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องอดทน และพยายามเข้าใจลูก โดยไม่ไปแก้ปัญหาให้เขาเอง ซึ่งจะทำให้ลูกแก้ปัญหาเองไม่ได้ และต้องคอยถามไถ่ลูกและคุณครูเป็นระยะๆ เพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่องด้วยค่ะ
พ่อแม่อาจเพิ่มพลังด้วยคำชม จะเป็นตัวเสริมพฤติกรรมให้ลูก ก็จะช่วยให้ลูกอยากเป็นเด็กที่ใจดีได้อย่างพอดีและมีความสุขค่ะ