ไข้เป็นสิ่งบ่งบอกว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย มักทำให้เด็กงอแง และที่สำคัญอาจมีอาการชักตามมาได้ อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 – 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะถือว่าเด็กเป็นไข้ การใช้เทอร์โมมิเตอร์ปรอทวัดอุณหภูมิร่างกายมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการใช้มือสัมผัสเด็ก และสามารถประเมินได้อย่างละเอียดกว่าอีกด้วย
เทอร์โมมิเตอร์กับปรอท
สารปรอทที่บรรจุภายในเทอร์โมมิเตอร์ เป็นโลหะสีขาวคล้ายเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง และระเหยกลายเป็นไอได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ง่ายขึ้น ซึ่งปรอทจะเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก ทางเดินหายใจและทางผิวหนัง พิษสารปรอทมีทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง พิษชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากอุบัติเหตุโดยการกลืนกินสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งปริมาณปกติที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายและทำให้ตายได้ โดยเฉลี่ยประมาณ 0.02 กรัม อาการที่เกิดจากการกลืนกินปรอท คือ อาเจียน ปากพอง แดงไหม้ อักเสบและเนื้อเยื่ออาจหลุดออกมาเป็นชิ้นๆ เลือดออก ปวดท้องอย่างแรง เนื่องจากปรอทกัดระบบทางเดินอาหาร มีอาการท้องร่วงอย่างแรง อุจจาระเป็นเลือด เมื่อร่างกายเสียเลือดมากจะเป็นลม สลบ เมื่อเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิต ปรอทจะไปทำลายไต ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะเป็นเลือด และตายในที่สุด พิษชนิดเรื้อรัง จะไปทำอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง และไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด และยังทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ซึ่งอันตรายเหล่านี้ เมื่อเป็นแล้วรักษาให้กลับดีดังเดิมไม่ได้ หากได้รับจากการหายใจ ปอดอักเสบ มีอาการเจ็บหน้าอก มีไข้ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกและตายได้
ประโยชน์ของปรอททางการแพทย์
การป้องกันอันตรายจากปรอท
สารปรอทและสารประกอบของปรอทควรเก็บในภาชนะที่ปิดสนิทเพื่อป้องกันการระเหยของปรอท ในกรณีที่มีการรั่วหรือแตกของอุปกรณ์ปรอท ให้นำภาชนะที่มีน้ำมารองรับเพื่อป้องกันการระเหยของปรอท
การดูแลลูกน้อยที่เป็นไข้
เทอร์โมมิเตอร์ปรอท เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการวัดอุณหภูมิของร่างกาย จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 แต่ปรอทที่บรรจุภายในมีพิษและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมติจากที่ประชุมมนตรีประศาสน์การของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติให้จัดทำมาตรการทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านการจัดการสารปรอท ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ปรอทภายในปี 2567 เทอร์โมมิเตอร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาตรการนี้ด้วย
เทอร์โมมิเตอร์ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการวัดไข้ โดยเฉพาะการเป็นไข้ของเด็ก สำหรับเด็กเล็กในช่วงขวบปีแรก หากมีอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส แสดงว่ามีไข้ มีข้อแนะนำเพื่อช่วยให้พ่อแม่ดูแลลูกน้อยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่นการเช็ดตัว และการตัดสินใจไปพบแพทย์ ดังนี้
ลูกอายุ 3-6 เดือน มีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 38 องศาเซลเซียส และลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป มีอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 39 องศาเซลเซียส ระหว่างทางไปพบแพทย์ควรเช็ดตัวลดไข้ให้ลูกด้วย
ถ้าลูกขวบปีแรกเป็นไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง ทำการลดไข้ด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ไม่หาย มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีอาการกระสับกระส่าย ร้องไห้ไม่หยุด ซึมหายใจเร็วหอบ ชัก อาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น
ระวังอาการชัก หากลูกไข้ขึ้นสูงเกิน 39 องศาเซลเซียส คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องระวังว่าลูกอาจเกิดอาการชักได้ ซึ่งต้องทำการลดไข้โดยด่วน ด้วยการนำผ้าขนหนูชุบน้ำมาไว้ตามข้อพับเพื่อการระบายความร้อน
การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุณหภูมิห้องหรือผสมน้ำอุ่นนิดหน่อย จะช่วยกระตุ้นให้หลอดเลือดขยายตัว และนำความร้อนออกจากร่างกายได้ดี ไม่ควรใช้น้ำเย็น หรือแผ่นแช่เย็นลดไข้ โดยเช็ดตัวลูกจากช่วงศีรษะไล่ลงไปจนทั่วร่างกาย ซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ ที่จะเป็นจุดรวมความร้อน และเปลี่ยนผ้าเมื่อรู้สึกว่าผ้าเริ่มอุ่น หรือน้ำเริ่มแห้ง อาจจะใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ สอดไว้ที่รักแร้หรือซอกขาหนีบ ซึ่งเป็นจุดที่มีเส้นเลือดใหญ่ไหลผ่าน ความร้อนจะได้แพร่มาที่ผ้าได้อย่างรวดเร็ว โดยปกติของการเช็ดตัว จะลดไข้ภายในครึ่งชั่วโมง ควรให้ทานยาควบคู่ไปด้วย
การแต่งกายลูกน้อย ให้ลูกแต่งตัวด้วยชุดสบาย ๆ และห่มผ้าห่มที่ไม่หนามาก ไม่ควรแต่งตัว หรือห่มผ้าหนา ๆ เพราะจะทำให้การระบายความร้อนไม่สะดวก และทำให้อุณหภูมิกลับสูงขึ้นห้องนอน ควรมีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป อาจเปิดพัดลมเป่าระบายอากาศได้ แต่ไม่ควรหันมาตรงตัวลูก
อุปกรณ์วัดไข้
จะเห็นว่าอุณหภูมิของร่างกายโดยเฉพาะเด็กสำคัญยิ่ง ช่วยในการตัดสินใจดำเนินการต่อไป มารู้จักอุปกรณ์วัดไข้แบบใช้ง่าย เพื่อเลือกใช้หรือทดแทนเทอร์โมมิเตอร์ปรอท ที่จะถูกยกเลิกในอนาคต อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่
เทอร์โมมิเตอร์ปรอทแก้วมีราคาไม่แพง มีความถูกต้องแม่นยำดี ส่วนเครื่องวัดอุณหภูมิชนิดอื่นๆ ก็มีความถูกต้องแม่นยำสูง แต่จะมีราคาแพงกว่า แถบวัดอุณหภูมิมีความแม่นยำต่ำ แต่ใช้ง่ายสะดวก ราคาไม่แพง อาจเป็นทางเลือกเพื่อการดำเนินการเบื้องต้นก่อนพาลูกน้อยไปพบแพทย์
เทอร์โมมิเตอร์กับการดูแลลูกน้อยเมื่อเป็นไข้
รองศาสตราจารย์.ดร.ภญ.พิสมัย กุลกาญจนาธร,
รศ.ภญ.ยุวดี วงษ์กระจ่าง และ ภก.วสุ ศุภรัตนสิทธิ