มีกรณีตัวอย่างจากพ่อแม่หลาย ๆ คนที่มักจะแชร์เรื่องลูกตัวเองที่เกือบเป็นเด็กสมาธิสั้น หรือสมาธิสั้นเทียม
ไม่จำกัดขอบเขตให้ลูกว่าสิ่งไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ อาจคิดว่าลูกยังเด็กอยู่ การสอนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยากเกินที่เขาจะเข้าใจ เวลาลูกจะทำอะไรเลยตามใจทุกอย่าง เมื่อลูกได้ทำทุกอย่างตามความเคยชินที่เขาต้องการ ก็ยากที่เขาจะปรับตัวให้อยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมได้
ปล่อยลูกไว้กับสิ่งเร้า โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้อยู่ด้วย เช่น ปล่อยให้ดูโทรทัศน์ อยู่กับจอคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ก็มีผลต่ออาการสมาธิสั้นเทียมของลูกทั้งสิ้นค่ะ แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่บางคนจะชอบที่ลูกไม่ซน ไม่วิ่งเล่น ไม่รื้อของเล่นกระจายเต็มบ้าน แต่ผลเสียที่ได้กลับมาไม่คุ้มค่า ทำให้ลูกรอคอยไม่เป็นและไม่มีความอดทน
1. จัดตารางชีวิตให้ลูก นำกิจวัตรประจำวันของลูกมาทำเป็นขั้นตอน ให้เขารู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร อาจทำเป็นรูปภาพเพื่อจูงใจให้เขาเดินมาดูว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง เช่น ตื่นนอน ต่อไปต้องล้างหน้า แล้วลงไปกินข้าว กินข้าวเสร็จต้องมาแปรงฟัน อาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียน เป็นต้น
ข้อดีคือลูกจะเรียนรู้ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อไร มีการจัดลำดับเป็น และเป็นการหัดวางแผนด้วยค่ะ เช่น หากเขาทำการบ้านเสร็จเร็ว ก็จะมีเวลาเล่นของเล่น หรือทำกิจกรรมที่เขาต้องการได้นานขึ้น การฝึกลูกทำกิจวัตรเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมา ทำให้เกิดการจดจำและเกิดการคิดวิเคราะห์จากการใช้สมองส่วนหน้าค่ะ
2. ฝึกสมาธิ และการฝึกจิตให้รู้เท่าทันกับปัจจุบัน ลองฝึกให้ลูกจดจ่ออยู่กับสิ่ง ๆ หนึ่ง ในระยะเวลาที่ทำได้และไม่นานมาก แต่ควรจะทำให้พัฒนาจากเดิม เช่น อาทิตย์นี้ทำได้ 30 วินาที อาทิตย์หน้าก็ควรจะได้ 40 วินาทีเป็นต้น
การพัฒนาสมาธินี้จะฝึกควบคู่ไปกับการที่ลูกรับรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตัวเองในปัจจุบัน เช่น รู้ว่าตอนนี้เขากำลังยกมือซ้าย กำลังหยิบส้อมขึ้นมา กำลังยกมือขวา กำลังหยิบช้อนขึ้นมา วิธีการนี้ไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะค่ะ แรกเริ่มอาจจะมีสัก 3–4 ขั้นก่อนก็ได้ แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อดีคือจะทำให้ลูกจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานขึ้น มีความอดทนมากขึ้น แต่ต้องทำสม่ำเสมอ และไม่เร่งลูกจนเกินไป อย่ากดดันลูก การเล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือแม้แต่การวาดรูป ก็เป็นการฝึกวินัยและฝึกให้ลูกได้รู้จักควบคุมร่างกายของตัวเองค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตและประเมินลูกด้วย บางทีลูกเราอาจจะไม่เหมาะกับวิธีการแบบนี้ก็ได้ เพราะเด็กแต่ละคนมีความพร้อมและความชอบที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องคอยสังเกตและปรับให้เหมาะกับลูก โดยไม่นำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น
3. If … then = การเตือนตนด้วยตน วิธีนี้อาจฟังดูยากแต่จริง ๆ ไม่ยาก หลัก If … then แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่า ถ้า (ทำสิ่งนี้นะ) ให้ (ทำสิ่งนั้นต่อ) เช่น หากเวลาลูกอยู่ที่โรงเรียนแล้วชอบลืมหนังสือ ให้พ่อแม่บอกลูกถ้าได้ยินเสียงออด ให้หยิบหนังสือ และยังใช้ได้อีกหลายเรื่องเลยนะคะ
ถ้าคุณครูเปิดปาก ให้ลูกหยุดพูด ถ้าเปิดประตูบ้าน ให้เอากระเป๋าไปเก็บ แต่พ่อแม่ต้องอย่าลืมว่า ตัวพ่อแม่เองต้องคอยบอกลูกเป็นประจำทุกวันทำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของลูกได้ในไม่ช้า
ข้อดีคือ จะช่วยแก้นิสัยของลูกที่พ่อแม่อาจเป็นห่วงอยู่ เช่น ลืมเอารองเท้ากลับบ้าน ชอบคุยในห้องเรียน ไม่ยอมเก็บกระเป๋ารองเท้า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่พ่อแม่ต้องเตือนให้ทำอยู่ตลอดเวลา ต่อไปนี้ลูกก็จะรู้จักเตือนตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำให้เขาภาคภูมิใจในตัวเอง และยังเพิ่มความสามารถในการควบคุมตัวเองของลูก เพิ่มความมั่นใจ ทั้งเป็นการรับผิดชอบตัวเองได้มากขึ้น ถ้าลูกทำได้แล้วคุณพ่อคุณแม่อาจจะมีรางวัล เช่น พาไปขี่จักรยาน พาไปสวนสัตว์ หรือหมั่นให้คำชมเชยค่ะ