ไม่ว่าคุณจะเป็นแม่แบบไหน การเลี้ยงลูกไม่มีผิดไม่มีถูกโดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายอาจจะเกร็งๆ สักนิด เนื่องจากตนเองยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก เพราะฉะนั้นเมื่อได้รับข้อมูลอะไรมา ไม่ว่าจะตำราคุณหมอ ประสบการณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ปู่ย่าตายาย จากประสบการณ์แม่ๆ ที่แชร์ในโซเชียลมีเดียแม่มือใหม่หลายๆ คนก็มักจะเชื่อไปเสียหมด
แต่จะดีกว่าค่ะถ้าคุณแม่แต่ละคนมีความมั่นใจในการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของตัวเอง ละนี่จึงเป็นที่มาของงานเสวนา “ผิดหรือถูก แม่เลี้ยงลูกแบบไหน เสริมพัฒนาการลูกที่สุด” ที่ทางเบบี้มายด์จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นให้คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายเลี้ยงลูกอย่างมีความสุขที่สุด เป็นธรรมชาติของตัวเองและลูกมากที่สุดนั่นเอง
งานนี้มีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงเด็กมาร่วมพูดคุยถึง 4 ท่าน ได้แก่
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ จิตแพทย์มือ 1 ของประเทศไทยที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี เจ้าของเพจปั้นใหม่
แพทย์หญิงเสาวภา พรจินดารักษ์ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม เจ้าของเพจหมอเสาวภาเลี้ยงลูกเชิงบวก
ทันตแพทย์หญิงจีรภา ประพาศพงษ์เจ้าของเพจหมอภา และ
นายเเพทย์ถิรชัย ตันสันติวงศ์ กุมารเเพทย์ระบบประสาท มาร่วมพูดคุยให้ความรู้กับแม่ๆ ด้วย
ซึ่งบรรยากาศภายในห้องเสวนาจะมีทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่เดินชมนิทรรศการและร่วมทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเด็กๆ จะมีมุมเด็กเล่นเอาไว้เฉพาะเลย เป็นที่ถูกใจกันทั้งแม่และลูก เพราะในขณะที่เด็กๆ เล่นกันในโซนที่เขาจัดไว้ให้ ผู้ใหญ่ก็ยังได้ร่วมฟังเสวนาดีๆ งานนี้มี
คุณโอปอล์ ปาณิศรา อารยะสกุล คุณแม่น้องอลินอลันมาเป็นผู้ดำเนินรายการ
พ่อแม่รุ่นใหม่ไม่มั่นใจในตนเอง
จากผลวิจัยที่ทาง Babi Mind ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นพ่อเเม่รุ่นใหม่ พบว่ามีถึง 94% ที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่มั่นใจในสัญชาติญาณความเป็นแม่ ทั้งวิธีการเลี้ยงลูกที่ดี ทำให้คุณแม่บางคนเลือกปรึกษาแพทย์เป็นบางครั้ง ในขณะที่แม่อีกหลายๆ คน ก็เลือจะปรึกษาแพทย์ในทุกๆ เรื่อง
ขณะเดียวกัน มีแม่อีก 83% ที่มีความวิตกกังวลเรื่องการเลี้ยงลูก 54% ยอมรับว่าคนรอบข้างมีอิทธิพลในการเลี้ยงลูก โดยกลุ่มคนที่มีอิทธิพล 3 อันดับ คือ พ่อแม่ตนเอง แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และ พ่อแม่สามี
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจเรื่องการเลี้ยงลูก พบว่า 43% แม่จะกังวลเรื่องพัฒนาการมากที่สุด รองลงมา 41% เป็นเรื่องสุขภาพ ขณะที่อีก 11% แม่กังวลเรื่องอาหารการกินของลูก
เลี้ยงลูกแบบไหนเสริมพัฒนาการที่สุด
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอุมาพร ตรังคสมบัติ กล่าวว่า การสร้างให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งดีๆ เป็นแนวทาง Positive development หรือการพัฒนาเชิงบวกให้ลูกเสียก่อน เช่น สร้างความผูกพันที่ดี สร้างความรู้สึกว่าตนเองมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ สร้างเอกลกษณ์เชิงบวก สร้างวินัยและขอบเขตของพฤติกรรม ให้เด็กรู้จักใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ สร้างความรักที่จะเรียนรู้ให้เด็กๆ ให้เด็กๆ สร้างค่านิยมที่ดีให้เด็ก และสร้างประสิทธิภาพทางสังคม
นอกจากนี้คุณหมอยังเปรียบการเลี้ยงเด็กเป็นเหมือนการปลูกต้นไม้ พ่อแม่ต้องสร้าง “รากแก้ว” ให้แข็งแรง เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นไปได้ดี ตามแบบฉบับของพ่อแม่และปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
แพทย์หญิง เสาวภา พรจินดารักษ์ บอกว่าวินัยเชิงบวกนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูก โดยเน้นในเรื่องของการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ควรเน้นการลงโทษ หรือใช้อารมณ์ แต่ควรให้ลูกฝึกคิดวิเคราะห์ และร่วมตัดสินใจ แม้ว่าสุดท้ายแล้วลูกจะตัดสินใจผิดพลาด ลูกก็จะเรียนรู้ว่าเป็นผลของการกระทำ ขณะเดียวกัน พ่อแม่เองก็ต้องไม่ซ้ำเติมเขาด้วย เช่นกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของลูก เมื่อแม่ใช้วินัยเชิงบวก ลูกจะค่อยๆ คิดเป็น เรียนรู้เป็น รู้จักความรับผิดชอบด้วยตนเอง เช่น อาบน้ำ กินข้าว ทำการบ้าน ทำกิจกรรม ฯลฯ โดยที่แม่ต้องดุด่า บ่น หรือจำจี้จ้ำไชกับลูก
ซึ่งการสร้างวินัยเชิงบวกที่ดีนั้น ต้องใช้วิธีสื่อสารกับลูกโดยตรง ตั้งใจฟัง สบตากับลูก พูดกับลูกด้วยความจริงใจ นอกจากจะทำให้เข้าใจลูกแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพในตัวเขาด้วย
ทันตเเพทย์หญิง จีรภา ประพาศพงษ์ มองว่าเด็กเเต่ละคนมีลักษณะตามธรรมชาติไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องเรียนรู้ธรรมชาติของเด็กเเต่ละคน เข้าใจธรรมชาติของเด็กเเต่ละวัยว่ามีพัฒนาการอย่างไร ต้องเข้าใจความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อจะได้ตอบสนองลูกได้ถูกต้อง เพราะเมื่อลูกได้รับการเติมเต็มก็จะมีพัฒนาการที่ดี เกิดความรู้สึกดีต่อพ่อแม่
นอกจากนี้ พ่อแม่เองก็ต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ ไม่ตีกรอบชีวิต พัฒนาสุขภาพกายใจของลูกไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งการส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะการเอาตัวรอด เทคโนโลยี ฯลฯ เพื่อให้ลูกได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข มีความมั่นใจ และรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ในขณะที่ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ก็ดีด้วยเช่นกัน
นายเเพทย์ ถิรชัย ตันสันติวงศ์ บอกว่า การเลี้ยงลูกไม่ได้มีวิธีที่ถูกต้องสำเร็จรูปเสมอไป พ่อแม่นั้นย่อมรู้จักลูกตัวเองดีที่สุด เด็กๆ แต่ละคนมีพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบลูกตนเองกับเด็กคนอื่น เช่น เรื่องพัฒนาการ บ่อยครั้งที่มักจะพบว่าพ่อแม่ยึดเกณฑ์ช่วงอายุเด็กเป็นตัววัดว่าลูกตนเองมีพัฒนาการช้าหรือเร็ว ทั้งที่พัฒนาการของเด็กนั้นมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอมากกว่าทึกทักเอาเอง
และนอกจากพัฒนาการทางร่างกายแล้ว พ่อแม่เองต้องใส่ใจพัฒนาการทางสมองขของลูกด้วย เพราะการที่เด็กมี IQ ดี ต้องมีหลายๆ องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ อาหาร การกระตุ้นพัฒนาการตามวัย และสิ่งสำคัญ พ่อแม่ต้องพัฒนา EQ ของลูกไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้ลูกเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีสุขภาพกายใจที่ดี
สุดท้ายแล้ว เมื่อพ่อแม่เข้าใจลูก เข้าใจพัฒนาการ เข้าใจความต้องการของเขา และตอบสนองลูกได้ตรงจุด เชื่อว่าคุณแม่มือใหม่ทุกคนจะสามารถเลี้ยงลูกในแบบฉบับของตนเองให้พร้อมเติบโตขึ้นไปได้อย่างดี
ชมคลิป