ลูกเราขี้โม้กับเด็กคนอื่นๆ เก่งมาก ช่างไม่ธรรมดาจริง ๆ แต่บางครั้งก็มากเกินไปหน่อย ก็กระทบการเข้าสังคมเหมือนกัน
เคยไหมคะ? ลูกหลานเรานี่ขี้โม้กับเด็กคนอื่น ๆ เก่งมาก เช่น เรามีหุ่นยนต์ตัวใหญ่มาก ใหญ่เท่าบัมเบิ้ลบีเลยนะ, เรามีตุ๊กตาบาร์บี้เยอะมาก มีเป็นร้อยเลย, เราวาดรูปสวยกว่าตั้งเยอะ, เราได้ที่หนึ่งแหละ โอ้โห! ลูกหลานเรานี่ช่างไม่ธรรมดาจริงๆ บางครั้งเราก็แอบขำกับสิ่งที่เด็กๆ โม้ หรือ ขี้อวดออกมา
แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกนะคะ ที่หนูน้อยวัย 3-6 ปี จะชอบอวด หรือ เล่าเรื่องเกินเบอร์ไปหน่อย เพราะวัยนี้มีพัฒนาการทางภาษา มีความรู้รอบตัว และภูมิใจในตัวเองมากขึ้น จนต้องนำมาพูด แต่บางครั้งก็มากเกินไปหน่อย อาจกระทบต่อลักษณะนิสัยและการเข้าสังคมเหมือนกัน อย่างนี้ต้องหาวิธีรับมือแต่พอดีพองามแล้วค่ะ
เด็กวัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองแล้ว เลือกเสื้อผ้าใส่เองได้ เลือกของกินเองได้ แถมชอบแข่งขันกับเด็กคนอื่นๆ ไม่ว่าจะกินข้าว เล่นสนุก หรือพูดคุย เค้าชอบการเปรียบเทียบและไม่อยากแพ้ใครเลยค่ะ
นอกจากเป็นไปตามพัฒนาการแล้ว ก็ยังเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน เช่น ในโรงเรียนชอบมีการแข่งขัน กลุ่มเพื่อนชอบแย่งกันเป็นที่หนึ่ง พ่อแม่ชอบโอ้อวด เป็นต้นค่ะ
หากลูกกำลังเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และโม้ว่าดีกว่าและเก่งกว่าเพื่อน ให้คุณพ่อคุณแม่พูดไปตรงๆ ว่า พ่อแม่รู้ว่าหนูเก่ง แต่คนอื่นคงไม่ชอบที่หนูบอกว่าตัวเองดีและคนอื่นไม่ดี ตัวเองเก่งและคนอื่นไม่เก่งหรอกลูก ถ้าหนูพูดบ่อยๆ เพื่อนจะไม่ชอบและไม่อยากเล่นกับหนูนะ ลองมองเพื่อนตอนที่ลูกพูดสิ เพื่อนมีอาการอย่างไรล่ะ แบบนี้ลูกจะลองสังเกตและเรียนรู้ได้ว่าเพราะเขาพูดไม่น่ารัก เพื่อนจึงไม่อยากเล่นด้วย
สอนลูกทำให้เพื่อนประทับใจแทนที่จะโอ้อวดความเก่ง ความดีของตัวเอง เช่น ลูกวาดรูปสวยได้คะแนนดีกว่าเพื่อน แทนที่จะอวดว่าเก่งกว่า ให้ลูกบอกวิธีวาดรูปให้สวยกับเพื่อนจะดีกว่า หรือ ลูกได้ของเล่นใหม่ ให้ชวนเพื่อนมาเล่นด้วยกัน แทนที่จะอวดของเล่นใหม่กับเพื่อน สร้างความประทับใจให้เพื่อน น่าภูมิใจกว่าอวดอีกนะคะ
เมื่อลูกโอ้อวด คุณพ่อคุณแม่ต้องบอกลูกด้วยรอยยิ้ม น้ำเสียงนุ่มนวล ค่อยๆ สอนไปเรื่อยๆ อย่าไปบังคับให้ลูกทำ และเมื่อสอนลูกแล้ว ควรจบท้ายประโยคการสอนว่า ลูกอยากลองทำดูไหม ลูกอยากลองพูดดูไหม ให้เป็นการถามตอบไปในตัว เพราะความคิดเห็นของลูกสำคัญมากที่สุดค่ะ
คอยถามเรื่องที่โรงเรียนในทุกๆ วัน ว่าวันนี้กินข้าวกับอะไร เล่นกับเพื่อนคนไหน วันนี้งอนใครหรือเปล่า เพื่อที่จะได้ติดตามพฤติกรรมลูก เค้าจะเล่าให้ฟังตามประสาเด็กเองค่ะ และคุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยๆ สอนไปจากเรื่องที่ลูกเล่า วัยอนุบาล 3 ไม่เล็กเกินไปที่จะเรียนรู้ว่าเขาควรปรับตัวอย่างไร เพียงพ่อแม่ต้องอดทนคอยสอนเสมอนะคะ
ปรับลดนิสัยกันได้ตั้งแต่เด็กก็ควรทำนะคะ เพราะถ้าโตไปแล้วยังขี้โม้ ขี้อวดอยู่ละก็ มีเพื่อนยาก เข้าสังคมยาก แน่ ๆ ค่ะ