จะด้วยพื้นฐานของสภาพแวดล้อม สังคม ครอบครัว หรือจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็แล้วแต่ ที่เป็นเหตุให้ครอบครัวไม่สามารถเลี้ยงลูกเองได้อย่างเต็มที่ "เนิร์สเซอรี่" จึงเป็นอีกที่พึ่งพิงของครอบครัวในยุคนี้ แต่จะดีแค่ไหนหากเนิร์สเซอรี่ของลูก ไม่ได้เพียงแต่ทำหน้าที่แค่เลี้ยงเด็กไปวันๆ แต่ยังทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการของลูกที่คุณรักไปด้วย
ตามหาเนิร์สเซอรี่ในดวงใจ
ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ เมืองศิวิไล หากคุณได้ผ่านไปบนเส้นทางถนนพระรามหก บนชั้น 4 ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินท์ คุณจะได้พบกับพ่อหนูแม่หนูตัวน้อยวัย 2 1/2 - 3 ขวบ กำลังเริงร่าอย่างสนุกสนานกับการเล่นที่หลากหลาย..ปั้นดินน้ำมัน เล่นเกม ฟังครูเล่านิทาน ฯลฯ.. แรกๆ คุณอาจคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้ก็แทบไม่แตกต่างจากเนิร์สเซอรี่และอนุบาลทั่วไป เลย
แต่ถ้าคุณให้ความสนใจเพิ่มขึ้นใส่ใจสังเกตมากขึ้นคุณคุณก็จะพบว่ากิจกรรม ทั้งหมดถูกจัดอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยตามธรรมชาติของเด็กแต่ละคน ขณะที่หนูๆ ทั้งหลายไม่รู้หรอกค่ะว่า การเล่นและความสุขเหล่านั้นผู้ใหญ่ได้สอดแทรกกิจกรรมเพื่อพัฒนาร่างกาย, อารมณ์, สังคม และสติปัญญา ไปด้วยแล้ว
เรากำลังพูดถึง "หน่วยพัฒนาการเด็กเล็ก" ซึ่งเป็นหนึ่งในงานของกลุ่มการพยาบาล สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ที่นี่ไม่เพียงจะทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กเหมือนกับเนิร์สเซอรี่ทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่การเลี้ยงดูนั้นยังเป็นไปอย่างสอดคล้องเป็นวิชาการ พร้อมๆ กับเป็นสถานที่ที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กส่วน ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องพัฒนาการเด็กให้เกิดขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาและวิจัยพัฒนาการเด็กเล็กด้วย
เด็กที่เข้ามาอยู่ที่นี่จะต้องมีอายุครบ 2 1/2 ขวบบริบูรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่รั้วโรงเรียนเมื่ออายุ 3 ขวบ นอกจากนี้ยังมีจุดประสงค์เพื่อให้การดูและส่งเสริมการเรียนรู้ตามวัยของเด็ก เป็นการวางพื้นฐานในการปรับตัวที่เหมาะสมเมื่อเด็กเข้าวัยเรียน ป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของเด็กในระยะต้น โดยมีการพบปะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ปกครองในลักษณะแลกเปลี่ยนข้อคิด เห็น ให้ความรู้ความเข้าใจในการอบรมเลี้ยงดูเด็กที่ถูกต้อง
พัฒนาศักยภาพศูนย์เด็กเล็ก
น.พ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล ผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ บอกเล่าถึงที่มาที่ไปของหน่วยงานแห่งนี้ว่า"ตั้งแต่ตั้งสถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์มาเมื่อปี 2515 ได้จัดให้มีการดูแลเด็กเล็กขึ้น คือหน่อยพัฒนาการเด็กเล็กในปัจจุบัน จุดประสงค์เพื่อให้บริการพ่อแม่ และเพื่อให้นักศึกษา นักเรียน เจ้าหน้าที่ของเราได้เรียนรู้กระบวนการพัฒนาการของเด็กไปด้วย
ในระยะหลังๆ ได้มีการนำกิจกรรมที่ช่วยในเรื่องพัฒนาการเด็กเข้ามาเติมเต็มในหน่วยเลี้ยง เด็กเล็กของเราเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบว่าเด็กบางคนมีพัฒนาการช้ากว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย เช่น พูดช้า หรือยังไม่ค่อยพูด เราจะปรับกิจกรรมเพื่อช่วยเกื้อหนุนเขาให้เกิดทักษะในการพูดเพิ่มขึ้น ซึ่งก็พบว่าในช่วงสั้นๆ ที่เด็กมาอยู่กับเราเขามีการพัฒนาอย่างได้ผลดี
จากจุดนี้เรามองเห็นว่า เนิร์สเซอรี่ที่มีในหลายๆ จุดของประเทศไทย น่าจะมีศักยภาพที่จะช่วยในเรื่องพัฒนาการของเด็กได้ คือนอกจากจะช่วยเลี้ยงดูแล้วยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการกับเด็กที่ดูจะช้าหรือ น้อยกว่าเด็กทั่วๆ ไปนิดหน่อยได้
และตอนนี้ที่เรารู้กันอยู่ก็คือ โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งได้มีการรับเด็กพัฒนาการช้าเพื่อให้เรียนร่วมกับเด็ก ปกติ เพื่อให้เด็กที่มีพัฒนาการปกติช่วยกระตุ้นเด็กที่มีพัฒนาการช้า ซึ่งก็คิดว่ามันเป็นแนวโน้มใหม่ ถ้าเราช่วยกันทุกๆ จุดในบ้านเรา เด็กที่มีพัฒนาการช้าในบ้านเราก็จะพัฒนาศักยภาพขึ้นมาได้ น่าจะเป็นผลดีกับเด็ก ตรงตามหลักที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Early Intervention คือการช่วยตั้งแต่ยังเล็กๆ ซึ่งพัฒนาการเด็กล่าช้าที่เราเจอเป็นหลักก็คือเรื่องพูด เพราะเด็กไทยพัฒนาการด้านการพูดจะเป็นกลุ่มที่มาช้าและดูจะมีอยู่พอสมควร
ที่นี่เรามีทีมนักวิชาการ คุณหมอ พยาบาลเป็นทีมหลักที่ช่วยดูในเรื่องของพัฒนาการเด็ก พอรับเด็กเข้ามาจะมีการประเมินพัฒนาการก่อน ถ้าคนไหนส่งสัญญาณว่ามีพัฒนาการต่ำกว่ามาตรฐานก็จะให้การดูแลและพัฒนาในส่วน นั้นๆ เช่น เด็กที่พูดช้านอกจากอยู่ในห้องเลี้ยงแล้วเราก็ยังฝึกพูดให้ด้วย กระตุ้นให้เขาดีขึ้น นี่คือการเอาวิชาการเข้ามาเสริม
ส่วนการออกแบบกิจกรรมทั้งหลายยึดหลักตามพัฒนาการของเด็กทุกด้าน มีการใส่ไว้ในตารางกิจกรรมสำหรับเด็ก เช่น ฝึกความมีระเบียบวินัยและจริยธรรม ด้วยกิจกรรม สวดมนต์ ไหวพระ กายบริหาร ฯลฯ พัฒนากล้ามเนื้อเล็กและความคิดสร้างสรรค์ด้วยกิจกรรม เล่นแป้งปั้น ร้อยลูกปัด ฯลฯ คือจะมีความหลากหลายของกิจกรรมในแต่ละวัน เด็กก็จะไม่เบื่อ เด็กได้ออกกำลัง ได้ใช้กล้ามเนื้อ สนุก ได้ใช้ความคิด ร้องเพลงด้วยกัน ฟังนิทานด้วยกันเหล่านี้คือภาษา และความคิดอ่านของเด็ก
กิจกรรมที่จัดถ้าเป็นเรื่องพัฒนาการด้านร่างกาย ก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การประสานกันของกล้ามเนื้อ การประสานงานของอวัยวะ แล้วกิจกรรมเรื่องจิตใจก็จะมีปนเข้าไปอย่างเช่น การเล่านิทานแฝงคุณธรรม กิจกรรมที่เป็นเรื่องของสังคม การช่วยเหลือตัวเอง การดูแลตัวเอง
เหล่านี้จะส่งผลต่อจิตใจและความคิด เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ดูแลตัวเองดูแลอย่างไร ซึ่งการที่เด็กดูแลตัวเองได้เป็นทักษะหนึ่งที่จะส่งผลมาที่จิตใจคือสร้าง ความมั่นใจ มั่นใจว่าเขามีความสามารถ 2 ขวบกว่าเขามั่นใจว่าเขาทำได้ นี่ก็เป็นการนำวิชาพัฒนาการเข้ามาเป็นกิจกรรม
สำหรับหน่วยพัฒนาการเด็กเล็กเอง เราไม่ได้มองว่าเราเป็นตัวอย่างที่ดีเลิศ เราเพียงแต่อยากจะจุดประกายความคิดที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาตรงจุดนี้ของเด็กได้ ทั้งในแง่กายภาพ สุขอนามัยต่างๆ เพื่อดูแลร่างกาย แล้วก็กิจกรรมเพื่อพัฒนาจิตใจ พัฒนาความคิดเด็ก ถ้าถามผม หน่วยดูแลเด็กเล็กที่ดีคงจะต้องมี 2 อย่างคู่กัน คือทั้งกายภาพและกิจกรรม ไม่ใช่เน้นแต่กินกับนอน เพราะถ้ากินกับนอนเด็กก็จะได้กายภาพ แต่พัฒนาการด้านอื่นจะไม่ค่อยได้ครับ"
แนวการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กเล็ก
เป้าหมายที่แท้จริงของการจัดกิจกรรมของเด็กวัยนี้ ใช่จะมุ่งเน้นเฉพาะร่างกายที่เติบโตหรือสติปัญญาอย่างที่หลายคนเข้าใจเท่า นั้น แต่จะต้องเป็นกิจกรรมที่พัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. พัฒนาการด้านร่างกาย หมายถึง การพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ การพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก การพัฒนาประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือ ตา การพัฒนาด้านสุขอนามัย
2. พัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ หมายถึง การควมคุมอารมณ์ตนเองในการทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น การปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม การมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
3. พัฒนาการด้านสังคม หมายถึง การมีระเบียบวิย การเล่นหรือทำงานเป็นกลุ่ม การเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความรับผิดชอบในหน้าที่
4. พัฒนาการทางสติปัญญา หมายถึง การรับรู้ทางสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การดู การฟัง การดม การชิม และการสัมผัสทางผิวหนัง การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การจำ การเข้าใจคำศัพท์ และการฝึกพูด การยืดระยะความสนใจ