ธรรมชาติการ ‘เล่น’ ของเด็กวัย 3-6 ปี
1. เล่นไม่ซับซ้อน
แค่กองทราย หรือสีเทียนกับกระดาษก็ถือว่าสนุกสุดๆ แล้ว เพียงให้เด็กมีเวลาเล่นส่วนตัว ได้ลองผิดลองถูกเอง ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเล่นอย่างเต็มที่ เพื่อทำความรู้จักกับวัสดุ และวิธีการใช้สิ่งของรอบตัวมาเพิ่มพูนการคิดอย่างสร้างสรรค์
2.เล่นใช้จินตนาการ
วัยนุบาล1 มีทักษะการเรียนรู้เบื้องต้นด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 มาแล้ว รวมทั้งมีคลังวัตถุดิบสำหรับใช้คิดสร้างสรรค์ ทั้งยังมีประสบการณ์เล่นที่พัฒนาขึ้น เด็กวัยนี้จึงใช้จินตนาการที่มีอยู่มากมายในหัวเข้ามาผสมขณะเล่น เช่น อยากให้ผลงานสวยงาม มีการจำลองบทบาทเป็นคนอื่น หรือขยันสรรหาอุปกรณ์มาประกอบฉาก เพื่อการเล่นที่ดูสมจริงสมจัง
3.เล่นแบบคิดค้น
ปริศนาชวนคิด หรือการเล่นที่เด็กๆ วัยอนุบาล 3 ได้ลองสำรวจ ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง สนุกที่ได้เล่นกับเพื่อนๆ ดังนั้นการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเล่นของเด็กวัยนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่และคุณครูอาจคอยช่วยเหลือและคอยดูแลให้พวกเขาเล่นอย่างมีอิสระ ปลอดภัย
อย่างไรก็ตามการเล่นของเด็กวัยนี้ก็ยังมีรูปแบบการเล่นคล้ายๆ กัน อาจแตกต่างตรงวิธีการคิด หรือรูปแบบการเล่นที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่ต้องสังเกตพัฒนาการของเด็กแต่ละคน เพื่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเหมาะสม
รูปแบบการเล่นที่เป็นแนวทางการเล่นอย่างสร้างสรรค์
บทบาทสมมติ
Creative Kids:การเล่นบทบาทสมมุติเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ ได้สนุกสนานกับการใช้จินตนาการสร้างสรรค์เป็นเรื่องราว และได้ทำอุปกรณ์การเล่นที่เขาได้คิดริเริ่มเอง
สร้างสรรค์...ผ่านการเล่นสำรวจ
ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ วัยอนุบาลสามารถส่งเสริมด้วยการเล่นที่สนุกๆ อย่างการเล่นแบบสำรวจ เพราะได้จับสัมผัส ได้รื้อค้น ได้ดมกลิ่น ใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 จนครบ เพื่อให้เขาได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ จะช่วยสร้างความตื่นเต้น กระตือรือร้น แต่ถ้าเด็กทำไม่ได้ เล่นแล้วเลิกกลางคันก็ไม่เป็นไร ไว้ครั้งหน้าเราค่อยชวนลูกเล่นใหม่ก็ได้
Creative Kids:ส่วนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการลองทำซ้ำ ลองคิดประยุกต์ให้หลากหลาย และการได้ลองทำ ลองเล่นของจริง ช่วยจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ ค่ะ
แต่ไม่สนับสนุนให้เด็กๆ copy งานคนอื่น ดูแล้วนำมาคิดต่อยอดปรับใช้จะดีกว่า |
การเล่นของนักคิดตัวน้อยจะส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยที่สำคัญคือ ปล่อยให้เด็กๆ เล่นอย่างอิสระ และไม่ปิดกั้นด้วยคำว่า ‘ไม่’ หรือ ‘อย่า’ ซึ่งนำไปสู่การปิดกั้นจินตนาการของเด็กๆ
* นักคิดสร้างสรรค์ระดับโลกอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม หากเริ่มต้นด้วยการส่งเสริมให้เด็กๆ ฝึกคิดอย่างหลายหลาย ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ ได้เล่นและเรียนรู้ ด้วยบรรยากาศที่ผู้ใหญ่ส่งเสริมและสนับสนุนด้วยความเข้าใจลำดับขั้นของพัฒนาการและความชอบของลูกเอง