ต้นตอและวิธีดูแลของพ่อแม่ช่วยลูกได้
เวลาเรานึกถึงความเครียด เรามักจะนึกถึงเรื่องกลุ้มอกกลุ้มใจ พอบอกว่าเด็กๆ ก็มีความเครียดได้ หลายคนก็นึกไม่ออกว่าเด็กจะเครียดได้อย่างไรกัน
อะไรเป็นต้นตอของความเครียด
จริงๆ เด็กก็เครียดเป็นได้เหมือนผู้ใหญ่และไม่ใช่แค่คนเท่านั้น ธรรมชาติได้กำหนดให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีความเครียดได้เหมือนๆ กัน ความเครียดที่ว่าเป็นการทำงานของสมอง เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย จัดการกับปัญหาที่ไม่เป็นที่ต้องการ
มาดูตัวอย่างง่ายๆ กันก่อน เวลาเด็กประถมลืมเอาของที่ครูสั่งไปโรงเรียน หรือลืมการบ้านส่งครู สมองก็จะประเมินว่าสถานการณ์นี้มีอันตราย จึงสั่งให้เจ้าของตัวน้อยๆ ร้องไห้จ้าขึ้นมาในรถทันที จากนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไร ปลอบหรืออธิบาย สมองก็ไม่รับรู้แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะตอนนี้ส่วนที่ควบคุมอารมณ์ ได้เข้าควบคุมสมองไว้ทั้งหมด ส่วนที่เป็นเหตุผลไม่ทำงานเหตุการณ์แบบนี้ พ่อแม่คงเคยเจอกันทุกคน
ลองมาดูตัวอย่างที่เล็กกว่านี้กันหน่อย
สมมติเป็นเด็กขวบกว่าสองขวบ พอเห็นพ่อแม่แต่งตัวสวยๆ สมองก็รับรู้และประเมินทันทีว่า พ่อแม่กำลังจะออกไปนอกบ้าน และเราก็จะถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว สมองจึงสั่งให้เด็กร้องตามขึ้นมาทันที
เล็กกว่านั้นอีกนิด ตอนที่เด็กจำหน้าพ่อแม่ได้แล้ว เวลาเห็นคนแปลกหน้าหรือพาไปแปลกที่ จะพบว่าเด็กจะร้องไห้หรือไม่ก็ทำตัวแข็ง หน้าตาตื่นขึ้นมา ลักษณะนี้ก็สะท้อนว่ากำลังอยู่ในภาวะเครียด ไม่ใช่ภาวะปกติ
เครียดแต่พอดีมีประโยชน์
ความเครียดมีประโยชน์เพราะทำให้เราเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ แต่ถ้ามากและนานเกินไปก็เป็นโทษ ถ้ามากไปสมองก็จะตื่นตัวเกินขนาด เช่น ไฟไหม้บ้าน สมองจะตื่นตัวเกินขนาด จนทำให้เรายกตุ่มน้ำที่ร้อยวันพันปียกไม่ไหวลงมาจากบ้านสามชั้นได้
ถ้าเครียดกำลังพอดี เช่น เวลาร้องไห้หิวนม แม่ไม่ได้ตอบสนองทันที ต้องคอยเล็กน้อย ความเครียดขณะรอคอยก็จะถูกสมองสรุปเป็นบทเรียนว่า “คอย” ก็ได้ นานๆ ไปก็ไม่ร้องเอง หรือเด็กที่ลืมสมุดการบ้าน พอไปโรงเรียนพบว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น สมองจะสรุปใหม่ว่า เรื่องนี้อันตรายน้อย สมองอาจจะสรุปเลยเถิดไปว่า ครั้งหน้าก่อนนอนเตรียมตรวจข้าวของให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งอย่าหวังว่าจะทำได้ในตอนอายุน้อยๆ หรือทำจนเป็นนิสัยได้นะครับ นิสัยคนไม่ใช่สร้างได้จากประสบการณ์ครั้งสองครั้ง และต้องมีวุฒิภาวะถึงระดับหนึ่ง ถึงจะเกิดนิสัยดี ๆ ได้
ดังนั้นเวลาลูกๆ มีพฤติกรรมที่ผิดฟอร์มไป หรือมีพฤติกรรมที่รบกวน อย่าด่วนโมโหโทโส ลองนึกถึงเราตอนเด็กๆ และทบทวนเหตุแวดล้อมก็อาจจะพบว่า ลูกกำลังอยู่ในความกดดันหรือความเครียด ไม่ต้องทำโทษหรือดุดันกับลูก ให้นึกว่าตอนนี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ ช่วยให้เด็กสงบสติอารมณ์ พอเขาเรียนรู้ว่าประเมินสถานการณ์ผิด ก็จะค่อยๆ รับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้เอง
ยกเว้นถ้ามีพฤติกรรมที่มีปัญหามากหรือมีอาการทางร่างกาย เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ อาเจียนเป็นประจำ อย่างนั้นต้องไปหาหมอสักหน่อย ให้คุณหมอตรวจให้แน่ใจว่าอาการไม่ได้เกิดจากโรคทางกาย แล้วค่อยจัดการกับปัญหาทางจิตใจต่อไป
นพ.ดุสิต ลิขนะพิชิตกุล โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์