10 จุดอันตรายในโรงเรียนที่พ่อแม่ต้องสอนลูกให้ระวัง
เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่ว่าโรงเรียนของลูกไม่ปลอดภัย แต่บ่อยครั้งเราก็มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับการสูญเสียและอุบัติเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อ ดังนั้นเมื่อถึงวัยที่ลูกต้องไปโรงเรียนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับจุดอันตรายที่ต้องระมัดระวังในโรงเรียนมีอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
- ประตูรั้วโรงเรียน รั้วประตูโรงเรียนเป็นจุดหนึ่งที่เราอาจจะเคยเห็นข่าวกันมาบ้าง ว่ามีประตูล้มทับนักเรียน ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กๆ เล่นปีนป่าย หรือขย่ม เขย่ารั้วโรงเรียน เพราะหากประตูชำรุดอาจเกิดอุบัติเหตุได้
- เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น เพราะไม่ใช่เด็กคนเดียวที่เล่น และเด็กหลายคนเล่นกันรุนแรง หรือสนุกไม่ทันระวังตัว ลื่นสไลเดอร์ขาหัก ตกชิงช้าแขนหัก หัวเข้าไปติดในช่องบันได หรือแม้แต่เครื่องเล่นบางชนิดที่ชำรุดไม่ได้รับการดูแลก็อาจทำให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกให้เล่นตามกติกา บอกลูกให้รอคิว และควรเล่นตามวิธีที่ถูกต้อง ไม่ควรเอาหัวไปมุดหรือลอดตาข่ายใดๆ เป็นต้น
- บันได เด็กๆ หลายคนยังเดินขึ้นลงบันไดได้ไม่คล่อง ดังนั้นโรงเรียนอนุบาลมักต้องมีครูพี่เลี้ยงคอยดูแลนักเรียนขึ้นลง และให้นักเรียนค่อยๆ เดิน ควรบอกลูกไม่ให้วิ่งขึ้นลงบันได และต้องจับราวจับบันไดทุกครั้ง
- สระว่ายน้ำ หลายๆ โรงเรียนจะมีสระว่ายน้ำในโรงเรียน ส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนจะมีรั้วรอบขอบชิด มีประตูปิดแน่นหนา มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นที่สระว่ายน้ำโดยพลการ และควรบอกลูกให้อยู่ห่างสระว่ายน้ำในกรณีที่ไม่มีครูหรือผู้ใหญ่อยู่ด้วย
- ระเบียงอาคารเรียน ควรมีราวที่แข็งแรง มั่นคง มีลูกกรงป้องกันเด็กๆ วิ่งซุกซนตกลงมา หรือช่องราวระเบียงก็ต้องไม่กว้างมากจนเด็กเอาตัว เอาหัวลอดหลุดออกไปได้ ที่กั้นต้องสูงจนเด็กไม่สามารถปีนป่ายได้
- ห้องน้ำ นอกจากต้องสะอาดถูกสุขลักษะแล้ว จะต้องออกแบบให้ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ ไม่มีถังน้ำ หรืออ่างน้ำที่เด็กๆ จะเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ ประตูต้องไม่หนักหรือแน่นหนาจนเกินไป และไม่อยู่ในที่ลับตาคน เวลาเด็กเข้าห้องน้ำควรมีครูมาคอยเฝ้าด้วย และพ่อแม่ควรสอนลูกเรื่องการดูแลสุขอนามัยตนเองด้วย
- เหลี่ยมมุมเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ บางโรงเรียนจะมีมาตรการเรื่องลบเหลี่ยมมุมวัสดุอุปกรณ์ หรือมีวัสดุบุกันกระแทกตามผนัง หรือมุมโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ป้องกันการชนกระแทก แม้พ่อแม่จะไม่สามารถควบคุมลูกได้ แต่อาจบอกลูกว่าไม่ควรวิ่งเล่นให้ห้องเรียน เพราะเขาอาจชนโต๊ะจนได้รับบาดเจ็บ
- สายไฟ ปลั๊กไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้า โรงเรียนต้องคอยดูแล ปิดช่องปลั๊กสายไฟ และตรวจดูเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ไม่ให้ชำรุดหรือมีไฟรั่วได้ ขณะเดียวกันเด็กๆ ควรสอนเรื่องอันตรายจากปลั๊กไฟ และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากที่บ้าานแล้วเช่นกัน
- พื้นโรงเรียน พื้นโรงเรียนแต่ละจุดต้องออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและการใช้งาน เช่น สนามเด็กเล่นถ้าพื้นเป็นปูนแข็ง หรือลื่น ก็มีความเสี่ยงให้เด็กๆ ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้มาก
- ของเล่น ของเล่นในโรงเรียนควรให้เด็กๆ เล่นให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย อย่างของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ถ้าเด็กเอาเข้าปาก เข้าจมูก อาจจะเป็นอันตรายได้ นอกจากจะติดจมูกติดปากแล้ว ของเล่นยังเป็นพาหะของเชื้อโรค ทางที่ดีควรสอนลูกไม่ให้อมหรือเอาของเล่นเข้าปากค่ะ
เตรียมตัวให้พร้อม รับมืออุบัติเหตุของลูก
1. สอนลูกให้ระมัดระวังและป้องกันตัวเองได้ พ่อแม่ควรสอนลูกตั้งแต่เล็กๆ ว่าสิ่งไหนอันตราย เล่นได้ ไม่ควรเล่น และต้องรู้จักกลัวอันตราย เช่น ห้ามเล่นสายไฟ ปลั๊กไฟ ห้ามลงเล่นน้ำถ้าไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย หรือสอนให้ลูกว่ายน้ำให้เป็น สอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
2. คอยหมั่นเป็นหูเป็นตาช่วยคุณครูสังเกต ในโรงเรียนเป็นหน้าที่ของครูที่จะดูแลลูกๆ ดังนั้นพ่อแม่ต้องไว้ใจคุณครูว่าจะดูแลลูกๆ ให้ปลอดภัยได้ แต่ก็ต้องคอยหมั่นสังเกต คอยดูที่โรงเรียนด้วยว่ามีจุดไหน หรือบริเวณไหนที่อาจเป็นอันตรายกับเด็กๆ หรือลูกๆ ได้
3. ทำประกันอุบัติเหตุไว้ให้ลูก เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากเกิดอุบัติเหตุก็ยังมีประกันดูแลค่าใช้จ่าย เพราะเด็กๆ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทุกวันอยู่แล้วค่ะ ถึงแม้จะระมัดระวังแค่ไหน ดังนั้นเตรียมตัวรับมือไว้ให้พร้อมเลยดีกว่าค่ะ
เด็กอนุบาลเป็นวัยที่กำลังซุกซน เรียนรู้ สิ่งต่างๆ รอบตัว ดังนั้นอุบัติเหตุมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สิ่งที่พ่อแม่ และผู้ใหญ่จะทำได้คือคอยดูแลสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวเด็กให้ปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะที่บ้าน ที่โรงเรียน เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสพัฒนา ทักษะและการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างไม่สะดุด และเติบโตอย่างแข็งแรง มั่นคง ปลอดภัย