ความคิดของหนูเริ่มตั้งแต่ขวบปีแรก
เด็กๆ จะมีความสามารถในการคิดสอดคล้องกับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่มีเพิ่มมากขึ้นตามวัย ซึ่งความคิดของเด็กๆ ก็จะพัฒนามาตั้งแต่ขวบปีแรกแล้ว โดยการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวจากปฏิกิริยาอัตโนมัติ ซึ่งควบคุมไม่ได้ เช่น เวลาที่ได้ยินเสียงดัง ก็จะผวา เป็นต้น
ความคิดของเด็กจะพัฒนาไปตามพัฒนาการด้านร่างกายที่จะเติบโตขึ้น รวมทั้งการได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่มากขึ้น ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งพัฒนาการทางความคิดก็จะเริ่มซับซ้อนมากขึ้นตามวัย
วัยซนกับความคิดเชิงซับซ้อน
ยังไม่ได้ซับซ้อนเหมือนกับผู้ใหญ่ที่สามารถคิดวิเคราะห์และวางแผนได้ แต่ความคิดเชิงซับซ้อนของเด็กจะซับซ้อนเท่ากับความสามารถทางสติปัญญาตามวัยของเขา เช่น เมื่อลูกเข้าสู่วัย 1-2 ปี จะมีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ผ่านกิจกรรมที่ลูกได้ทำ เช่น เรียนรู้ว่าเวลาที่เตะลูกบอล ลูกบอลก็จะกลิ้งไปข้างหน้าได้ หรือการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา เช่น หากอยากขีดเขียนบนโต๊ะ แต่มีสิ่งของวางอยู่เต็มโต๊ะต้องทำอย่างไร
ซึ่งการเรียนรู้ของเด็กเล็กๆ จะเป็นการเล่นคนเดียว เพราะยังไม่รู้วิธีเล่นกับคนอื่น โดยเด็กๆ จะเริ่มเล่นกับคนอื่นตอนอายุ 3 ปีขึ้นไป การรู้จักเล่นกับคนอื่นจะทำให้พัฒนาการในด้านการคิดดีมากขึ้น เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง จะช่วยให้เด็กๆ ได้ใช้ความคิดในการแก้ปัญหา และคิดวางแผนที่จะเล่นด้วยกัน แบ่งของให้กัน และรู้จักวิธีประนีประนอมต่อกัน ซึ่งการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความคิดเชิงซับซ้อนของเด็กวัยซน จะกระทำผ่านการเล่นนั่นเอง
เล่นแบบนี้เสริมความคิด
ในเมื่อลูกยังเล่นกับคนอื่นไม่เป็น พ่อแม่จึงเป็นคนสำคัญที่จะต้องเล่นและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก โดยเข้าไปร่วมเล่นกับลูกด้วย เพื่อที่ลูกจะได้ฝึกการฟัง การออกเสียง และจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ เวลาที่พ่อแม่คุยกับเขา รวมทั้งยังสามารถสอนให้ลูกรู้จักสิ่งของต่างๆ รอบตัวผ่านการเล่นได้ด้วย ซึ่งการเล่นกับลูกวัยซนแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกได้ฝึกการประสานกันระหว่างมือและตา ฝึกการทรงตัว ได้สัมผัสสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เมื่อลูกได้เรียนรู้มากขึ้น ลูกจะนำมาใช้ในกระบวนการคิด โดยพ่อแม่อาจจะกระตุ้นให้ลูกได้สร้างสรรค์การเล่นเอง เช่น ฝึกการทรงตัวโดยเปลี่ยนจากการวิ่งเป็นกระโดด ช่วงแรกๆ พ่อแม่อาจจะแนะนำการเล่นให้ลูกได้รู้จักก่อน แต่เมื่อเขาได้เล่นมากขึ้น เขาก็จะรู้จักใช้ความคิดเชิงซับซ้อนมาพัฒนาการเล่นให้สนุกและท้าทายมากขึ้น
เล่นแบบนี้ ไม่พัฒนาความคิด 1. ของเล่นสำเร็จรูป เช่น ของเล่นที่ออกแบบมาให้กดหรือเคาะเพียงอย่างเดียว แต่เด็กไม่ได้ใช้ความคิดในการเล่น 2. ของเล่นที่ไม่เหมาะกับวัย หากเป็นของเล่นที่ยากเกินไปแล้วลูกเล่นไม่ได้ อาจทำให้ลูกเสียความมั่นใจในตัวเองได้ หรือของเล่นที่ง่ายเกินไป ลูกอาจจะเบื่อและไม่ชอบเล่นสิ่งนั่นไปเลย 3. ของเล่นที่ไม่ความปลอดภัย เช่น แตกหักง่าย แหลมคม หรือมีขนาดที่เล็กเกินไป (น้อยกว่า 4 ซม.) อาจทำให้อุดในช่องคอของเด็กได้ เป็นอันตรายค่ะ |
ฝึกพัฒนาความคิด พื้นฐานในการใช้ชีวิต
ถ้าลูกได้รับการฝึกให้คิดอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการตามวัย จะเป็นพื้นฐานในการต่อยอดเรื่องการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต เพราะเมื่อลูกต้องไปเข้าสังคมอย่างการไปโรงเรียน ต้องเจอกับเพื่อนและคุณครูที่ไม่เคยรู้จัก ต้องเจอกับสถานที่แห่งใหม่ ลูกก็จะมีความมั่นใจที่ต้องอยู่ในสังคม
ตรงกันข้าม ถ้าหากลูกไม่ได้ฝึกพัฒนาความคิด หรือมีพ่อแม่คอยช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ทุกอย่าง เมื่อลูกเติบโตขึ้น ลูกจะไม่รู้จักการปรับตัวเข้ากับสังคม ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งเมื่อต้องเจอกับอุปสรรคในชีวิต อาจทำให้รู้สึกท้อแท้ใจได้อย่างง่ายๆ
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล