แม่ท้องกับความหวาน
ที่มาของรสชาติหวานมาได้จากหลายที่ ทั้งจากอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลทราย น้ำผึ้ง และผลไม้ ซึ่งแหล่งความหวานทั้งหมดนี้ แม่ท้องสามารถกินได้ตามปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ คือไม่เกินวันละ 4–6 ช้อนชา ยกเว้นคุณแม่ท้องที่เป็นเบาหวาน ที่ต้องควบคุมน้ำตาลจากอาหารมากเป็นพิเศษ โดยจำกัดให้ไม่เกิน 5-10% จากความต้องการของพลังงานทั้งหมด เฉลี่ยที่ 1-2 ช้อนชาต่อวัน
หวาน...แค่ไหนดี
เมื่อที่มาของความหวานมาจากหลากหลายที่ ของหวานจึงมีหลากหลายประเภทและระดับความหวาน ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น...
+ ของหวานน้ำตาลสูง เช่น อาหารประเภทเชื่อม ทองหยิบ ทองหยอด กล้วยเชื่อม ช็อกโกแลต
+ ขนมหวานน้ำตาลปานกลาง อย่างขนมไทยที่มีน้ำกะทิ เช่น แกงบวช ขนมอบต่างๆ
+ ขนมหวานน้ำตาลน้อย มักจะเป็นการผลิตขึ้นเป็นพิเศษ เช่น ไอศกรีม Sugar Free น้ำผลไม้ปั่น ผลไม้สด ฯลฯ แต่ถึงแม้ของหวานที่มีน้ำตาลน้อย แต่มักมีปริมาณของไขมันเพิ่มขึ้นจากสูตรปกติ ซึ่งเป็นประเภทที่แม่ท้องควรเลือกกินมากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีความหวานที่ซ่อนอยู่ในเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งแม่ท้องต้องระวังเป็นพิเศษด้วย เพราะในน้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาล 7-10 ช้อนชา นมเปรี้ยว ขนาด 80 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 2-3 ช้อนชา ชามะนาว ชาเขียว 1 แก้ว น้ำเก๊กฮวย น้ำขิง น้ำผลไม้ปั่น มีน้ำตาล 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือ 3-6 ช้อนชา
เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์ เรื่องของหวานกับแม่ท้อง เป็นเรื่องควรใส่ใจอย่างจริงจังค่ะ
เรื่องหวานที่แม่ต้องรู้ + น้ำตาลเทียม สำหรับแม่ท้องที่ปกติที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน ก็ควรจะรับความหวานตามธรรมชาติที่มีอยู่ แต่สำหรับแม่ท้องที่เป็นเบาหวานหรือมีน้ำหนักตัวมาก ที่อาจต้องการใช้สารให้ความหวาน หรือน้ำตาลเทียมแทนนั้น แต่ควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการถึงปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละคนค่ะ + น้ำตาลทรายทั่วไป คุณแม่ท้องกินได้ทั้งน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายแดง แต่ถ้าเลือกได้แนะนำให้เลี่ยงน้ำตาลทรายขาว เพราะจะมีวิตามินเกลือแร่น้อยกว่าน้ำตาลทรายแดง + อย่าหวานเกินไป เพราะการกินน้ำตาลมากเกินความต้องการของร่างกาย น้ำตาลส่วนเกินจะถูกเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมัน ทำให้น้ำหนักของคุณแม่เพิ่มได้ง่าย |
ที่ปรึกษาทางโภชนาการ : แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นเนล