ต้นไม้ใหญ่ต้องมีรากแข็งแรงฉันใด เด็กจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดีก็ต้องมีรากฐานมั่นคงฉันนั้น วัยที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างรากฐานให้กับลูกน้อยก็คือวัยหนึ่งถึงสามขวบปีนั่นเอง เพราะเป็นวัยที่ผ่านพ้นจากความเป็นทารก ร่างกายและสมองพร้อมสุดๆ เพื่อรองรับพัฒนาการในทุกด้าน ปัจจัยสำคัญที่สุดประการหนึ่งคือเรื่องของอาหาร หนูน้อยวัยนี้เริ่มรับประทานอาหารแบบผู้ใหญ่ได้แล้ว พ่อแม่หลายคนอาจจะสบายใจว่าลูกน่าจะทั้งอิ่มทั้งอร่อยได้คุณค่าเต็มที่ แต่อย่าลืมว่ากระเพาะลูกนั้นเล็กนิดเดียว ปริมาณอาหารอาจไม่พอต่อการนำไปใช้ส่งเสริมทั้งร่างกายและสมอง แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีละเนี่ย!
ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการอย่างศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ FAO และที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการในคณะกรรมการอาหารแห่งชาติและประธานกรรมการวางแผนกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ให้ข้อแนะนำว่า
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ควรทำให้ได้ โดยแม่ควรดูแลตัวเองให้มีสุขภาพดี เพื่อที่จะสามารถให้นมลูกได้อย่างเต็มที่
- หลังครบหนึ่งปี เด็กควรได้รับอาหารมื้อหลักวันละ 3 มื้อ ถ้ายังให้นมแม่อยู่ ควรให้นมแม่ต่อไปจนถึงอายุ 2 ปีเป็นอย่างน้อย
- นมผงถือเป็นประเภทหนึ่งของอาหารเสริมสำหรับวัยเด็กเล็ก ( อายุ 1-3 ขวบ )
- วิธีดีที่สุดคือสร้างนิสัยการกินที่ถูกหลักโภชนาการให้ลูก
- กินมื้อหลักวันละสามมื้อที่มีสารอาหารครบถ้วน กินผักผลไม้มากๆ และกินนมเสริมวันละสองแก้วหรืออย่างน้อยหนึ่งแก้ว
- แคลเซียมจากนมที่ร่างกายได้รับอย่างเพียงพอช่วยส่งเสริมการเติบโตของกระดูกและฟันได้เต็มที่
เติมเต็มเพื่อการเติบโตของลูกน้อย
ในวัยหนึ่งถึงสามขวบ พ่อแม่หลายคนอาจเผชิญปัญหาน่าปวดหัวจากพฤติกรรมการกิน ไม่ว่าจะเป็น “กินยาก เลือกกิน อมข้าว ปฏิเสธอาหาร ติดเล่น ฯลฯ ” ในวัยนี้ความสนใจเรื่องอาหารจะลดน้อยลงตามธรรมชาติ เพราะสนุกกับการสำรวจโลกใบใหม่มากกว่า ในขณะที่คุณแม่ต่างก็มีความคาดหวังอยากเห็นลูกกินอาหารหมดจานทุกมื้อซึ่งมักจะเป็นความหวังที่ยากจะเป็นจริงจนคุณแม่อ่อนอกอ่อนใจไปตามๆ กัน แต่อย่าเพิ่งหมดหวังนะคะ เรามีตัวช่วยมาบอก
แพทย์หญิงกิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (PNMA) กล่าวว่า การที่เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการเติบโตของสมอง โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ขวบปี ผลที่อาจตามมาในช่วงวัยต่อไปซึ่งเด็กเริ่มเข้าสู่โรงเรียนคือเรื่องของระดับการเรียนรู้หรือระดับไอคิวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับสารอาหารสำคัญกลุ่มวิตามินเกลือแร่ที่พบว่าขาดไปได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินบี 12 วิตามินซี โฟเลต แคลเซียม เหล็ก ไอโอดีนและสังกะสี สำหรับตัวช่วยที่ว่านั้นก็คือ การให้เด็กเล็กกินนมเป็นอาหารเสริมเพราะวัย 1-3 ปี เป็นช่วงวัยที่สมองและร่างกายมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอีกช่วงหนึ่งของชีวิต เรียกว่าเป็นโอกาสทองของช่วงชีวิตลูกน้อยก็ว่าได้ วัยนี้มีความต้องการสารอาหารจำเป็นเพื่อตอบสนองการเจริญเติบโตของสมองและร่างกายในปริมาณที่มากขึ้นกว่าช่วงวัยก่อนขวบ ทั้งกลุ่มโปรตีน พลังงาน วิตามิน และเกลือแร่
แม้ว่าสารอาหารสำคัญทุกชนิดสามารถได้รับจากการกินอาหารห้าหมู่ในมื้อหลัก แต่เพราะส่วนใหญ่เด็กวัยนี้มักจะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการกินดังที่กล่าวแล้วข้างต้น โอกาสได้รับสารอาหารจำเป็นไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจึงเพิ่มขึ้น โดยแนะนำให้กินนมเสริมมื้ออาหาร ถ้าคุณแม่สามารถจัดหาอาหารมื้อหลักที่มีสารอาหารครบถ้วนจากข้าว ผัก เนื้อสัตว์และผลไม้ให้กับลูกได้ในปริมาณที่เหมาะสมได้ครบ 3 มื้อ ก็เลือกนมสดรสจืดเสริมวันละ 2-3 แก้ว แต่ถ้าหากลูกกินยากหรือกินได้น้อย หรือไม่แน่ใจว่าอาหารที่เตรียมให้มีสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ อาจเลือกใช้นมเสริมสารอาหารสำหรับเด็กเล็กแทนนมสดเพื่อเสริมวิตามินและสารอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากแคลเซียม แต่ข้อสำคัญคือควรหัดให้เด็กดื่มนมจากถ้วยแทนการดูดจากขวด
ทราบอย่างนี้แล้วเรามาร่วมกันสร้างรากฐานที่มั่นคง แข็งแรงให้กับลูกน้อยกันนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (PNMA)
(พื้นที่เพื่อการโฆษณาและประชาสัมพันธ์)