โรคอ้วนในเด็กเป็นอีกโรคที่พ่อแม่ต้องระวัง เพราะมีแนวโน้มนำไปสู่โรค NCDs ได้ เมื่อพบสัญญาณว่าลูกเราเริ่มเจ้าเนื้อหรือมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ พ่อแม่ต้องรีบปรับพฤติกรรมลูกก่อนกลายเป็นเด็กอ้วนแล้วละ
โรค NCDs หรือ non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคที่ไม่ก่อให้เกิดการแพร่จากคนสู่คนได้ แต่เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของคนคนนั้น การเกิดโรคจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป สะสมอาการต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ และเมื่อเป็นแล้วมักจะเกิดการเรื้อรังของโรคจนอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้
มองเห็นได้ชัดที่สุดคือเรื่องวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อพ่อแม่ทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาใส่ใจเรื่องอาหารของลูก ให้ลูกเลือกกินแต่อาหารที่มีไขมันสูง โซเดียมสูง ได้รับโภชนาการเกิน หรือพฤติกรรมติดจอ เนือยนิ่ง ก็ส่งผลให้ลูกไม่ได้ขยับตัว เคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้เกิดเป็นโรคอ้วนในที่สุด
พ่อแม่สามารถเช็กว่าลูกอ้วนหรือผม ตามเกณฑ์หรือไม่จากสมุดบันทึกเล่มสีชมพูหรือบันทึกการตรวจสุขภาพของลูกที่ได้รับจากโรงพยาบาลได้เลย หรือเช็กได้จาก เกณฑ์ตารางน้ำหนักส่วนสูงใหม่ ของเด็กแรกเกิด-5 ปี จากสำนักโภชนาการ ได้เลย
โดยน้ำหนักตามเกณฑ์ของเด็กชายควรอยู่ที่
อายุ 1 ขวบ หนัก 8.2 - 11.4 กิโลกรัม
อายุ 2 ขวบ หนัก 10.3 - 14.4 กิโลกรัม
อายุ 3 ขวบ หนัก 12.00 - 17.2 กิโลกรัม
อายุ 4 ขวบ หนัก 13.5 - 19.8 กิโลกรัม
อายุ 5 ขวบ หนัก 15.00 - 22.5 กิโลกรัม
และน้ำหนักตามเกณฑ์ของเด็กหญิงควรอยู่ที่
อายุ 1 ขวบ หนัก 7.5 - 10.7 กิโลกรัม
อายุ 2 ขวบ หนัก 9.15 - 13.8 กิโลกรัม
อายุ 3 ขวบ หนัก 11.5 - 16.9 กิโลกรัม
อายุ 4 ขวบ หนัก 13.15 - 20.00 กิโลกรัม
อายุ 5 ขวบ หนัก 14.7 - 23.00 กิโลกรัม
1. เริ่มต้นที่พ่อแม่หันเอามาใจใส่เรื่องอาหารการกินของลูกให้มากขึ้น เปลี่ยนทัศนคติที่ว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กน่ารัก รวมไปถึงต้องจับเข่าคุยกับคุณยายคุณย่าที่ชอบให้ขนมกับหลาน ๆ ด้วย
2. ลดอาหารทอดของลูกลง เน้นเมนูนึ่ง ต้ม ก็อร่อยได้หลายเมนูค่ะ หรือหากต้องกินข้าวนอกบ้านเลือกเมนูที่มีสารอาหารหลายหลาน ครบ 5 หมู่ ลดอาหารฟ้าดฟู้ดส์ ไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง ลงด้วยค่ะ
3. กินให้เป็นเวลา ของจุบจิบนอกมื้อไม่จำเป็นเลย ออกแบบอาหารจานผักและผลไม้ให้เด็ก ๆ รู้สึกอยากลิ้มลอง และพยายามมีผลไม้ติดตู้เย็นไว้ตลอด ปอกหั่นให้หยิบกินได้สะดวก
4. ปล่อยหรือชวนให้ลูกออกไปเล่นกลางแจ้งบ่อย ๆ ชวนลูกเล่นนอกบ้าน นอกจากได้ Out จอแล้วยังได้สุขภาพดีด้วย
5. ออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่ว่าจะวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เดินเล่น เต้นแอโรบิก ตีแบด ฯลฯ สำคัญที่พ่อแม่ทำไปพร้อมกับลูกด้วย จะสนุกคูณสองเลย
หากบ้านไหนทำได้ครบก็จะได้เป็นเจ้าของครอบครัวตัวเบาสุขภาพดี ที่สำคัญต้องตั้งเป้าหมาย ทำความเข้าใจกับลูก แล้วก็ใจเย็น ๆ ค่ะ เมื่อความอ้วนจากไป สุขภาพและความมั่นใจก็จะกลับคืนมา