Perfectionism โรคสมบูรณ์แบบเป็นโรคที่พ่อแม่ทุกคนควรรู้จักไว้นะคะ เพราะเด็กทุกคนมีโอกาสเป็นได้ ลักษณะของโรคคือมีความเป๊ะเกินไป ในหลาย ๆ เรื่อง ทำอะไรต้องอยู่ในกรอบ ผิดพลาดไม่ได้ หรือหากผิดพลาดจะส่งผลต่ออารมณ์ เศร้าเสียใจหนักมาก โกรธ โมโหรุนแรง หากปล่อยเอาไว้ลูกอาจกดดันตนเองจนสะสมเป็นความเครียด และส่งผลต่อสุขภาพจิตได้
1. คาดหวังสูงกับตัวเอง
2. คิดแต่ว่าคนอื่นจะมองยังไง รู้สึกแย่ถึงแย่ที่สุด ถ้าทำอะไรผิดพลาดต่อหน้าคนอื่น
3. หวั่นไหวง่ายมาก เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์
4. ถ้าต้องทำอะไรที่คิดแล้วว่าทำได้ไม่ดี จะพยายามหลีกเลี่ยงสุดฤทธิ์
5. พยายามปกปิดว่าตัวเองรู้สึกยังไง และไม่ค่อยอยากสุงสิงกับคนอื่นเท่าไหร่
6. จัดลำดับความสำคัญไม่ค่อยเป็น ลังเลไปมา ตัดสินใจไม่ได้เสียที ไม่เลือกทางไหนไปสักทาง
7. ถ้าทำอะไรแล้วผลลัพธ์ออกมาแย่กว่าที่คาด อาจมีอาการ ทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง บ่อย ๆ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เด็ก perfectionist มาจากสองอย่างหลัก คือ ติดสมองเด็กมาตั้งแต่เกิด และ จากการเลี้ยงดู
1. ได้รับคำชม “เยอะเกิน” จากคนรอบตัว ซึ่งก็เป็นได้ว่าตัวเด็กเองก็มีบางอย่างให้น่าชมเชยจริงๆ เช่น สองขวบก็อ่านหนังสืออกแล้ว หรือมีทักษะดนตรี กีฬาบางอย่างที่โดดเด่น ใครเห็นเป็นต้องชม
2. พ่อแม่ “เรียกร้อง” จากลูก “เยอะมาก” คาดหวังสูงจากลูก ในลักษณะตึงเครียด ตัวเด็กเองต้องพยายาม “ตะเกียกตะกาย” ไปให้ถึงจุดที่พ่อแม่คาดหวังเอาไว้ จึงจะอยู่ในครอบครัวนี้ได้
3. พ่อแม่คนใดคนหนึ่งมีลักษณะ perfectionist ต้นแบบอย่างนี้ทำให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว
4. พ่อแม่สร้างเงื่อนไขให้ลูกเข้าใจว่า ลูกจะได้รับความรักจากพ่อแม่ ต่อเมื่อลูกประสบความสำเร็จอย่างที่พ่อแม่หวังไว้เท่านั้น ข้อสุดท้ายนี้ พ่อแม่มักไม่รู้ตัวว่าเราเองพูด หรือแสดงท่าทีอะไรออกไปบ้าง แต่ลูกเข้าใจไปเรียบร้อยแล้วว่าคนไหนไม่เก่งพอ ไม่แจ๋วพอ ไม่ดีพอ พ่อแม่จะรักน้อยกว่าลูกคนอื่น ๆ
การปล่อยให้เด็ก perfectionist โตไปเป็นผู้ใหญ่ perfectionist โดยไม่ช่วยเหลือลูกให้เต็มที่ก่อน ถือเป็นการทำร้ายเด็ก (โดยไม่เจตนา) ใครที่มีลักษณะ perfectionist คงเข้าใจถึงความทุกข์ จากความตึงเครียดเกินไปของตัวเองเป็นอย่างดีแล้ว
พ่อแม่สามารถช่วยปรับลด เพื่อไม่ให้ลูกเป็น perfectionist ได้ดังนี้
1. พ่อและแม่ต้องปรับทัศนคติตัวเองก่อน
ชีวิตลูกเป็นของเขา พ่อแม่ ผู้ปกครองมีหน้าที่ในการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม ส่งเสริมพัฒนาการอย่างรอบด้าน ให้เขาได้เติบโตสมวัยและรู้จักตัวเอง รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ทำสิ่งใดได้ดี และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในแบบของเขา อย่าพยายามคิดว่าลูกเป็นของเราหรือยัดเยียดให้ต้องทำตามที่พ่อแม่ต้องการเท่านั้น การทำความเข้าใจและยอมรับในตัวลูกมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างภูมิต้านทานในตัวลูก
2. ฝึกให้ลูกชนะได้ก็แพ้ได้
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้ว่าในทุกเรื่องมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ การชนะในวันนี้ไม่ได้หมายว่าความจะชนะตลอดไป เพราะเมื่อมีคนชนะก็ย่อมต้องมีคนแพ้เสมอ เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโอกาสชนะและแพ้ได้เท่าๆ กัน ผู้ชนะก็ควรชื่นชมผู้แพ้ ในขณะเดียวกัน เมื่อแพ้ก็ควรยินดีกับผู้ชนะ ลูกต้องรู้จักการเป็นทั้ง “ผู้ชนะ” และ “ผู้แพ้” แล้วลูกจะเข้าใจความรู้สึกและไม่ยึดติดกับการต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น และเมื่อแพ้ ก็ต้องไม่สิ้นหวัง ต้องมีพลังและทัศนคติที่จะผลักดันให้มีความพยายามในครั้งต่อไป
3. มองลูกด้วยสายตาความเป็นจริง
ต้องประเมินศักยภาพลูกของเราด้วยสายตาที่เป็นจริง ไม่ใช่สายตาที่พ่อแม่อยากให้เป็น เพราะมันจะมีความแตกต่างกันมาก ถ้าลูกของเราไม่ใช่เด็กหัวดีประเภทหน้าห้อง ก็ควรส่งเสริมให้ลูกตั้งใจเรียนให้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการเรียน อย่าพยายามกดดันเปลี่ยนตัวตนของลูกด้วยการให้ลูกเรียนพิเศษเพื่อจะได้เรียนเก่งเหมือนคนอื่น เปลี่ยนเป็นส่งเสริมให้ลูกเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ไม่กดดัน โดยพ่อแม่เข้าไปมีส่วนช่วยในการกระตุ้นให้เขารับผิดชอบต่อการเรียนของตัวเอง ทำให้เต็มที่ และให้ความมั่นใจกับลูกว่า ไม่ว่าผลการเรียนออกมาจะเป็นอย่างไรถ้าลูกทำเต็มที่แล้ว พ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูก
4. ลดความคาดหวังลง
กรณีที่ลูกเรียนเก่งอยู่แล้ว ก็มักเป็นที่คาดหวังของพ่อแม่ อยากให้ได้เรียนที่ดีๆ ได้เกรดดีๆ แต่สำหรับคนที่เรียนไม่ดี พ่อแม่ก็ควรลดความคาดหวังลง ไม่ต้องถึงขนาดเคี่ยวเข็ญมาก เพราะจะทำให้ลูกไม่ต้องกดดันมากจนเกินไป เขายังสามารถเดินตามความฝันของเขาได้เต็มที่แบบไม่ต้องเครียด
5. อย่าเปรียบเทียบ
กรณีครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน พ่อแม่ต้องระมัดระวังความรู้สึกของลูกอีกคนด้วย ถ้าจะชื่นชมลูกคนโตก็ควรสอนให้ลูกอีกคนชื่นชมยินดีและให้กำลังใจพี่คนโตด้วย และพยายามทำให้อยู่บนความพอดีพอเหมาะ ไม่ใช่ออกนอกหน้า โดยไม่ได้สนใจความรู้สึกของลูกอีกคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยหรือแม้แต่นำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ก็ไม่ควรทำ เพราะเด็กแต่ละคนก็มีความสามารถเฉพาะตัว และมีพื้นนิสัยที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
6. เรียนรู้แบบมีเป้าหมาย
สิ่งสำคัญที่พ่อแม่สามารถปลูกฝังและสอดแทรกไปกับการเรียนรู้เรื่องแพ้-ชนะ คือ ความมุ่งมั่นที่จะไปสู่เป้าหมาย โดยใส่ใจในรายละเอียดระหว่างทางด้วย ให้เขาได้เห็นความสำคัญของทักษะชีวิตในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ความอดทน ความพยายาม การเรียนรู้ความผิดพลาด ฯลฯ รวมไปถึงการฝึกให้เขามีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตอย่างมีแบบแผน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสุขภาพจิต