เคยสังเกตหรือไม่ว่า เวลาปิดเทอม เจ้าตัวเล็กจะร่าเริงเป็นพิเศษ แถมไม่ค่อยป่วยซะด้วย แต่เปิดเทอมทีไร จะเป็นหวัดหรือไม่ค่อยสบายอยู่บ่อยๆ นั่นเป็นเพราะในห้องเรียนของลูกอาจจะมีเชื้อโรคแฝงตัวอยู่ อาจทำให้ลูกเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาได้ง่ายๆ ค่ะ โดยเฉพาะ 5 เชื้อโรคยอดฮิต ต่อไปนี้
โรคนี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนเป็นกันมาแล้ว เพราะติดกันง่ายมาก แค่ภายใน 2-3 วัน เพียงเด็กๆ ไป แตะโดนตัวเพื่อนที่กำลังเป็นอีสุกอีใส หรือเผลอไอใส่หน้ากันเท่านั้นก็เรียบร้อยค่ะ
อาการเริ่มแรก ลูกจะปวดหัว เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว กินข้าวไม่ค่อยลง และเริ่มมีตุ่มแดงขึ้นตามตัว แขนขา และขึ้นที่หน้า หลังจากนั้น ตุ่มแดงจะกลายเป็นตุ่มใสขอบแดง และเมื่อใกล้หาย จะเปลี่ยนเป็นตุ่มขาวๆ แล้วตกสะเก็ดและค่อยๆ หลุดออกไป เหลือไว้แค่รอยแผลเป็นดำๆ ซึ่งโรคนี้เป็นเอง ก็หายได้เอง
แต่เด็กบางคนเป็นมากกว่านั้น เพราะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดแผลเป็นหนอง และเด็กเล็กที่มีภูมิต้านทานไม่ดี อาจรุนแรงจนทำให้มีอาการปอดบวม สมองอักเสบ เยื่อสมองอักเสบ ถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าปากลูกโดยตรง ซึ่งมีทั้ง “โรต้าไวรัส” เด็กเล็กอายุไม่เกิน 5 ปีจะเป็นกันบ่อย “อดีโนไวรัส , แอสโตรไวรัส”และ“โนโรไวรัส ก็สามารถมาจู่โจมเด็กๆ รวมทั้งผู้ใหญ่ได้ คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการของลูกได้จากลูกท้องเสียเป็นน้ำ ไม่มีมูกเสียปน คลื่นไส้ อาเจียน บางครั้งปวดท้อง ปวดหัว มีไข้ หรือมีน้ำมูกและไอด้วย นี่คืออาการที่เป็นน้อย
เด็กบางคนเมื่อท้องเสียหลายวัน อาจทำให้ลูกท้องอืด ก้นแดง เพราะผิวของลำไส้ถูกทำลาย การดูดซึมอาหารไม่ดีเหมือนเดิม รวมทั้งอาจถ่ายเหลว เพราะเอนไซม์แลกเตสที่ใช้ย่อยน้ำตาลแลคโตสทำงานไม่เต็มที่
หากรุนแรงจนกระทั่งถ่ายเหลวมากๆ ร่างกายของลูกจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ บวกกับลูกกินข้าวไม่ได้เลย ทำให้ช็อกได้ และถ้ารักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลถ้าลูกถ่ายเหลวมากๆ
เรียกว่า ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองเลยล่ะกับโรคมือเท้าปาก ในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 5 คน จะเป็นโรคนี้ถึง 4 คนทีเดียว โดยจะมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2-3 วันจะเจ็บปาก ไม่ยอมกินข้าว เพราะในปากมีตุ่มแดงทั้งที่ลิ้น เพดานปากและกระพุ้งแก้ม แล้วกลายเป็นตุ่มพองใส มีการอักเสบและแดงบริเวณรอบๆ ตุ่ม เมื่อตุ่มแตกออกจะเป็นแผลหลุมตื้นๆ นอกจากนี้ยังพบตุ่มหรือผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และก้น แต่จะไม่คัน โรคนี้ไม่มีความรุนแรง โดยที่อาการไข้ขึ้นนั้นจะลงภายใน 3 วัน อาการของเด็กก็จะค่อยๆ ดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 7-10 วันค่ะ
โรคนี้มีทั้งสายพันธุ์ A และ B จะติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาที่อยู่กันเยอะๆ ซึ่งติดต่อผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม และไข้หวัดใหญ่ ยังสามารถติดต่อได้ทางละอองฝอยของน้ำมูกและน้ำลาย รวมทั้งจากมือของเด็กที่มีเชื้อโรค แล้วนำมือเข้าปากหรือป้ายจมูก เชื้อโรคก็วิ่งเข้าสู่ร่างกายของเด็กๆ แล้วค่ะ
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการที่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาได้คือ ลูกจะมีไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว อ่อนเพลียมาก อาจคัดจมูก และเจ็บคอ แต่หากเป็นอยู่นานลูกอาจไอได้ เพราะหลอดลมอักเสบ มักหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากมีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบระหว่างการเป็นไข้หวัดใหญ่ อาจทำให้เสียชีวิตได้
เด็กเล็กๆ สามารถเป็นไข้หวัดได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะฤดูฝน หรือฤดูหนาว เฉลี่ยแล้วเด็กๆ จะเป็นไข้หวัดกัน 3-8 ครั้งต่อปี ที่เป็นบ่อยๆ เพราะโรคไข้หวัดมีเชื้อไวรัสหลายสายพันธุ์ เวลาเป็นไข้หวัด จะเกิดจากเชื้อโรคเพียงชนิดเดียว เมื่อเขาหายแล้ว ร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อที่เคยป่วย แต่ก็เป็นได้อีกค่ะ
อาการของไข้หวัด จะคัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ จามบ่อย คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอโตขึ้น ไอแห้งๆ หรือไอแบบมีเสมหะเล็กน้อยและเป็นสีขาว แต่มีน้ำมูกหรือเสมหะเกิน 4 วัน อาจจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียว เพราะอาจมีเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ แทรกอยู่ได้ เด็กบางคนอาจเกิด ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักสบ หรือ ปอดอักเสบได้ ในเด็กเล็กอาจชักเพราะพิษไข้ได้ด้วย
จริงๆ แล้วเชื้อโรคมีอยู่ทุกที่ แต่สิ่งสำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องดูลูกน้อยให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อจะไม่ป่วยง่ายหรือถ้าป่วยแล้วมีอาการน้อยที่สุด ซึ่งการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงนั้นยังส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนที่ดีของลูกอีกด้วย
จากการสัมภาษณ์ : พญ.รังสิมา โล่ห์เลขา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลลาดพร้าว