พ่อแม่ต้องจัดการเวลาของลูกให้ดี เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป เด็กเติบโตไปกับโลกเทคโนโลยี ทั้ง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ จนมีข่าวมากมายว่าเด็กติดมือถือ ติดเกม จนเป็นโรคสมาธิสั้น บางรายก็ตาอักเสบ ล่าสุดมีผลสำรวจจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ว่าเด็กไทยช่วงชั้น ป.1- 6 เป็นโรคสมาธิสั้นร้อยละ 6.5 กว่า 3 แสนคน
สุขภาพจิต เปิดเผยว่า โรคในเด็กที่น่าเป็นห่วงและมีผลต่ออนาคตของเด็กไทยคือโรคสมาธิสั้นหรือโรคเอดีเอชดี หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่าโรคไฮเปอร์แอคทีฟ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้คิดว่าเด็กป่วย โดยโรคนี้มักพบในเด็กชาย เด็กจะไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานๆ มีอาการหุนหันพลันแล่น อยู่ไม่สุข ควบคุมตัวเองไม่ได้
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญปัญหานี้มาก เนื่องจากหากไม่รักษาตั้งแต่เด็ก จะมีผลต่อการเรียนต่ออนาคตของเด็กเอง และอาจถูกทำร้ายจากผู้ปกครองหรือญาติได้จากความไม่เข้าใจ ผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้น ป.1-6 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ร้อยละ 6.5 คาดว่าจะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 310,000 ราย ขณะที่ทั่วโลกพบเด็กเป็นโรคนี้ร้อยละ 5
และจากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่าเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้หากไม่รักษาจะทำให้ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่ป่วยมีอาการจนถึงผู้ใหญ่ จะมีผลเสียต่อทั้งเด็กและสังคม โดยพบว่า 1 ใน 4 ทำผิดกฎจราจร มีบุคลิกก้าวร้าว อีก 1 ใน 10 มีปัญหาใช้สารเสพติด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งมีร้อยละ 5 ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ
ไม่ใช่เรื่องที่มองข้ามได้เลยนะคะ กับปัญหาโรคสมาธิสั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องหันมาใส่ใจดูแลลูกหลาน จำกัดเวลาเล่นมือถือ เกม และหากิจกรรมอย่างอื่นทำ และควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมผิดปกติของลูกหลาน ว่าอาจสมาธิสั้นหรือไม่เพื่อที่จะพาไปรักษาตั้งแต่ยังเด็ก และรักษาหายขาดได้
จัดมุมที่เงียบสงบไว้ให้เด็กได้ทำงาน หรือทำการบ้าน ห่างจากโทรทัศน์ไม่ให้มีเสียงเข้ามารบกวนสมาธิ และจัดของใช้ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดสิ่งเร้าที่ดึงความสนใจของเด็ก
ใช้การสื่อสารที่สั้น กระชับ ชัดเจน ให้เด็กทวนคำสั่งว่ามีอะไรบ้าง เนื่องจากเด็กสมาธิสั้นมักมีความอดทนในการฟังต่ำ
ฝึกฝนวินัยในเด็ก สร้างกรอบกฎเกณฑ์ มีตารางเวลาชัดเจน ไม่ปล่อยปละละเลยหรือตามใจจนเคยตัว
เบี่ยงเบนความสนใจ เมื่อเด็กดื้อหรือซนมากให้หากิจกรรมอื่นมาแทน
ให้เด็กออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เพื่อช่วยลดพลังงานส่วนเกิน ช่วยให้มีสมาธิและลดความเครียด
การนอนหลับให้เพียงพอก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้เด็กมีสมาธิและมีสุขภาพที่ดี
ลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลง แต่ทำบ่อยขึ้น เน้นเรื่องความรับผิดชอบและอดทน ตั้งเป้าหมายของกิจกรรมให้ง่ายๆ สั้นๆ อย่างชัดเจนและเสร็จเป็นชิ้นๆ ไป
ควรให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป