มีคำถามเสมอว่าควรเลือกโรงเรียนอย่างไร ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าชนชั้นกลางระดับกลางหรือสูงมีกำลังจ่ายค่าเล่าเรียนโรงเรียนทางเลือก หรือทำโฮมสคูลในขณะที่ชนชั้นกลางระดับกลางหรือล่าง รวมทั้งชนชั้นล่างไม่มีกำลังจ่าย รู้ทั้งรู้ว่าการศึกษาสมัยใหม่เป็นอย่างไรก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากนอกจากส่งเรียนโรงเรียนตามระบบ คือโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน
มีงานวิจัยจากต่างประเทศว่าเวลาและกิจกรรมที่พ่อแม่มีให้แก่กันในช่วงปฐมวัยมีความสำคัญมากกว่าชื่อเสียงโรงเรียน มีงานวิจัยในระดับประถมทำนองนี้ด้วยแต่น้อยกว่า ผมมีคำแนะนำเพียงข้อเดียวเสมอนั่นคือ “เลือกโรงเรียนใกล้บ้าน”
ประสบการณ์ส่วนตัวผมส่งลูกสองคนเรียนใกล้บ้านจริงๆ ตอนปฐมวัยขับรถห้านาทีถึง ตอนประถมเดินไปกลับ ผมขับรถส่งลูกทุกวัน ห้านาทียังเล่นยิงขีปนาวุธใส่เต่าไฟกาเมร่าตามทางไม่เสร็จก็กลับถึงบ้านแล้ว ตอนเดินไปกลับผมเดินไปส่งทุกเช้าแล้วปล่อยสองพี่น้องเดินกลับเอง แต่ละจังหวัดต่างกัน
คำว่าใกล้บ้านควรมีความหมายว่า “เมื่อบวกลบปัจจัยทั้งหมดแล้ว เรามีเวลาคืนมาที่บ้านมากที่สุด” ปัจจัยต่างๆ ที่เอามาคิด ได้แก่ ระยะทางจากบ้านถึงโรงเรียน ระยะทางจากบ้านถึงที่ทำงานพ่อแม่ ระยะทางจากที่ทำงานพ่อแม่ถึงโรงเรียน จำนวนการบ้าน จำนวนกิจกรรมพิเศษของโรงเรียนทั้งที่เหลวไหลและมีสาระ เวลาทำโอทีของพ่อแม่ เป็นต้น
เหล่านี้บวกลบแล้วเหลือกี่ชั่วโมงต่อวันที่เราจะได้เล่นด้วยกัน และเหลือกี่ชั่วโมงในวันเสาร์อาทิตย์ที่เราจะได้เที่ยวด้วยกัน นั่นคือใกล้บ้าน
ภายใต้ข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่าทุกโรงเรียนมีจุดอ่อน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนทางเลือก โฮมสคูล โรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน เวลาที่คืนมาเราเอามาทำอะไรบ้าง?
หนึ่งคือเล่น อันนี้ต้องทำแน่ๆ เน้นย้ำอีกครั้งว่า “เล่นด้วยกัน” สองคือทำงานบ้าน เพราะงานบ้านสร้าง EF (Executive Function) ความสามารถระดับสูงของสมองเพื่อความสำเร็จในชีวิต อ่านนิทานก่อนนอน หรือเล่านิทาน หรือคุยกันก่อนนอน อันนี้เป็นกิจกรรมภาคบังคับ ต้องทำเช่นกัน ดังนั้นหาโรงเรียนที่การบ้านไม่มากนักเราจะได้มีเวลามีความสุขด้วยกันก่อนนอน
สำคัญที่สุดคือมีเวลาให้เราชดเชยความเสียหายที่ได้มาจากโรงเรียน พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าโรงเรียนไม่ดี แต่ชีวิตเป็นเรื่องทำนายไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเด็กๆ พบอะไรในแต่ละวัน เขาตีความประสบการณ์ต่างๆ นานาเหล่านั้นอย่างไร สร้างความไม่สบายใจหรือคับข้องใจเพียงใด เพราะเราไม่รู้เราจึงต้องมีเวลาในแต่ละวันเหลือเอาไว้ “ล้างใจ”
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล