"วัณโรค" ทุกคนมีโอกาสที่จะเป็นได้ เพราะฉะนั้นเราอยากให้ตื่นตัวกันมากขึ้น จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกในไทยปี 2560 พบคนไข้วัณโรคกว่า 80,000 ราย 83% เป็นวัณโรคในปอด 17% เป็นวัณโรคนอกปอด เช่น กระดูก อวัยวะต่างๆ และ 1 ในวัณโรคนอกปอด ที่พบน้อยกว่า 1% จะพบวัณโรคด้านหลังโพรงจมูก ถือเป็นกรณีที่ไม่ปกติ พบน้อยมาก เพราะมีร่างกายปกติทุกอย่าง เราจะมาทำความรู้จักวัณโรคให้มากขึ้นกันค่ะ
วัณโรคคือเชื้อโรคชนิดหนึ่ง ที่ทำลายร่างกายคนเราแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เหมือนกับแบคทีเรียอื่นๆ ที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายปุ๊บ ก็แสดงอาการให้เห็นทันที โดยส่วนใหญ่แล้ววัณโรคจะอาศัยอยู่ในปอด วัณโรคจริงๆ แล้วก่อโรคได้ทั้งในมนุษย์และสัตว์ โดยมีอยู่ด้วยกันหลายสายพันธุ์ แต่ที่พบได้บ่อยในคนเราและเป็นที่รู้จักกันดีก็คือ “TB” ซึ่งพวกนี้เชื้อประจำท้องถิ่นเรา ดังนั้น ทุกคนล้วนมีโอกาสเป็นวัณโรคได้เหมือนกันหมด และจะเป็นเมื่อไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคนและปริมาณเชื้อที่ได้รับ
ไอเรื้อรัง โดยเป็นได้ทั้งไอแห้ง และไอแบบมีเสมหะ จะเป็นเสมหะเหลืองหรือเขียว ก็มีโอกาสเป็นวัณโรคได้หมด หรือจะไอเป็นเลือดนี่ก็ใช่ มีไข้ เหงื่อออก น้ำหนักลด และที่สังเกตได้ง่ายๆ อีกอย่างคือ การมีไข้แบบเฉพาะในตอนกลางคืน ถือว่าเข้าข่ายน่าสงสัยเลยว่าเป็นสัญญาณของวัณโรค ควรรีบมาตรวจคัดกรองและปรึกษาแพทย์โดยด่วน
คนที่ภูมิต้านทานไม่ดี คนโภชนาการไม่ดี ผอม แห้ง อ้วนน้ำหนักเกิน คนที่ป่วยเป็นโรคปอดอยู่แล้ว เสี่ยงมาก เพราะได้รับเชื้อปุ๊บปอดก็อาจทรุดได้เลยทันที คนชอบสูบบุหรี่ คนทำงานในสายอาชีพที่กระตุ้นให้มีโอกาสเกิดวัณโรคได้ง่าย เช่น คนทำเหมืองแร่ คนงานที่ก่อสร้าง อยู่กับหิน กับฝุ่น กับมลพิษ
ห้ามแพร่เชื้อ เรามีหน้าที่ในการไม่แพร่เชื้อวัณโรคไปสู่ผู้อื่น” ทั้งนี้ ภายใน 2 อาทิตย์แรกเราต้อง “แยกตัวเอง” ออกจากผู้คนและชุมชน ต้องใส่ผ้าคลุมปิดปาก จะไอ จาม ธรรมดาไม่ได้ ต้องไอจามใส่ผ้า หรือกระดาษชำระ แล้วห่อเก็บทิ้งให้เรียบร้อย แยกจานแยกช้อน เพราะวัณโรคสามารถติดต่อได้ทางน้ำลาย เวลารับประทานอาหารเสร็จแล้ว เราก็ต้องล้างส่วนตัวของเราไม่นำไปปนกับคนอื่น ไม่ควรไปทำงานในช่วง 2 อาทิตย์แรกเด็ดขาด เพราะมีโอกาสสูงที่เราจะไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น แต่หลังจาก 2 อาทิตย์ไปแล้วนั้น สามารถกลับไปทำงานได้ เพราะโดยหลักการแล้วยาที่ได้รับในช่วงแรก เมื่อครบ 2 อาทิตย์ จะทำให้ความสามารถในการแพร่เชื้อลดน้อยลงจนแทบจะไม่มีเหลือ
ในวงการแพทย์มีเพียงไม่กี่โรคเท่านั้นที่หมอสามารถตอบได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “รักษาหายได้” หนึ่งในนั้นคือ โปลิโอ และสองคือ “วัณโรค” ดังนั้น สิ่งที่อยากจะบอกให้คนไข้ทุกคนสบายใจก็คือ วัณโรคเป็นได้ แต่ก็สามารถรักษาหายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ใช่วัณโรคดื้อยา และคนไข้ไม่ดื้อเอง ทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ
หาอากาศดีๆ ให้ปอด ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอากาศที่ไม่ดี หลีกเลี่ยงควันเขม่า อย่างควันรถ บ้านเรานั้น เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง เพราะเป็นอันตรายต่อปอดแน่นอน พาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติบ้าง พักปอดจากมลพิษในเมืองบ้าง ปอดก็เหมือนกับเครื่องฟอกอากาศ เลือดทั้งร่างกาย สูบขึ้นหัวใจ หัวใจยิงเข้าสู่ปอด เพื่อมาฟอก เพื่อมารับออกซิเจน แล้วนำกลับไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้น ถ้าเราไม่ดูแลเครื่องฟอกอากาศในตัวเรา ก็คงเป็นเรื่องยากที่ชีวิตนี้เราจะได้สูดลมหายใจอย่างมีความสุขสดชื่นแบบเต็มปอดได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์ คลินิกอายุรกรรมโรคปอด โรงพยาบาลพญาไท 3 www.phyathai.com