พ่อแม่ต้องเล่นกับลูกให้มากขึ้น เพราะเด็กเริ่มมีพฤติกรรมที่เนือยเกินไป
อยากให้ลูกพัฒนาการดีสมวัย เรามีคำแนะนำดีๆ จากกรมสุขภาพจิตมาบอกต่อค่ะ หลังจากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ผู้ใหญ่มากกว่า 23% และวัยรุ่นมากกว่า 80% มีกิจกรรมที่ไม่เพียงพอและพฤติกรรมเนือยนิ่งมากเกินไป เช่น ชอบการนั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไร ปล่อยลูกการนั่งติดกับสายรัดในรถเข็นเด็ก ชอบนั่งเฉยๆ ดูโทรทัศน์ นั่งดูมือถือมากขึ้น แบบนี้ไม่ค่อยดีเลยนะคะ มาดูคำแนะนำสำหรับการทำกิจกรรมให้มากขึ้นกันเลยค่ะ
เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี
ควรมีกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวหลายครั้งต่อวัน โดยเฉพาะการเล่นบนพื้น หากยังเคลื่อนไหวได้ไม่ดี ควรมีการนอนคว่ำแบบตะแคงหน้าอย่างน้อยครั้งละ 30 นาทีหลายครั้งต่อวัน ในช่วงเวลาที่ตื่น ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆหรือล็อกติดกับรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง นอนหลับรวม 14-17 ชั่วโมง ในเด็ก 0-3 เดือน และ 12-16 ชั่วโมง ในเด็ก 4-11 เดือน ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดทั้งโทรทัศน์และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ
เด็กอายุ 1-2 ปี
ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆ หรือล็อกติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรนอนหลับรวม 11-14 ชั่วโมงต่อวัน ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาดในเด็กอายุ 1 ปี สำหรับในเด็กอายุ 2 ปี ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก
เด็กอายุ 3-4 ปี
ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย 180 นาทีต่อวันหรือมากกว่า โดยเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานอย่างมากนานไม่ต่ำกว่า 60 นาที ไม่ควรให้นั่งนิ่งๆ หรือล็อกติดกับเก้าอี้หรือรถเข็นเด็กนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรนอนหลับรวม 10-13 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดจนควรจำกัดเวลาหน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยยิ่งใช้เวลาหน้าจอน้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก
พ่อแม่ควรหาเวลาเล่นกับลูกให้มากขึ้นนะคะ การเล่นจะเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาความฉลาดทางปัญญา อารมณ์ และสังคมไปพร้อมๆ และควรเน้นการส่งเสริมกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น อ่านหนังสือ เล่านิทานให้เด็กฟังในเด็กเล็ก เล่นบทบาทสมมติโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว เพียงเท่านี้ลูกก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีได้แล้วค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูล : กรมสุขภาพจิต