รู้จัก 5 ปานที่มักเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก
ปานมีหลายแบบค่ะ โดยเฉพาะที่ติดตัวลูกมาตั้งแต่กำเนิด ปานบางแบบก็ไม่ธรรมดา เพราะอาจเป็นอันตรายแก่ลูกทารกได้เหมือนกัน
รู้จัก 5 ปานที่มักเกิดขึ้นกับทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก
- ปานดำแต่กำเนิด (Congenital melanocytic nevus)
ลักษณะ : เมื่อแรกเกิดปานชนิดนี้ของเจ้าตัวเล็กอาจจะสีค่อนข้างแดง แต่ผ่านมาไม่กี่เดือน ปานจะเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลที่เข้มขึ้น (แต่ในทารกบางคนอาจเป็นสีดำเข้มหรือน้ำตาลเข้มตั้งแต่แรกเกิด) ขนาดของปานจะโตกว่าไฝธรรมดา อาจมีผิวเรียบหรือนูน ขรุขระ อาจมีขนอยู่บนปานดำด้วย ปานประเภทนี้ไม่มีอันตราย นอกจากในเรื่องความสวยงาม
Concern : หากปานมีขนาดใหญ่ ควรปรึกษาแพทย์เพราะในอนาคตอาจกลายมะเร็ง
- ปานมองโกเลียน (Mongolian spot)
ลักษณะ : ปานชนิดนี้พบบ่อยมากที่สุดในปานชนิดที่มีมาตั้งแต่แรกเกิด ลักษณะเป็นผื่นราบสีฟ้าเทา ฟ้าเข้ม หรือเขียว พบบริเวณก้น สะโพก บางครั้งก็อาจพบที่อื่น เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ หนังศีรษะ เป็นต้น แต่ปานมองโกเลียจะค่อยๆ จางหายไปเองเมื่อลูกน้อยโตขึ้น
- ปานสตรอว์เบอรี่ (Strawberry nevus)
ลักษณะ : เป็นปานที่มีลักษณะเป็นตุ่มก้อนนูนสีแดงหรือม่วงเข้ม มักพบบริเวณใบหน้าและลำคอแรกๆ ที่ลูกเกิดจนถึงอายุประมาณ 1 ขวบปานจะโตเร็วมาก หลังจากนั้นสีจะม่วงคล้ำขึ้น และส่วนใหญ่ประมาณ 85% เมื่อลูกประมาณอายุ 7 ปีปานชนิดนี้จะหายเองจหมด เหลือเพียงแผลเป็นจางๆ
Concern : ถึงปานชนิดนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เองเมื่อโต แต่บางครั้งควรระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ ถ้าเกิดแผล มีเลือดออกอาจติดเชื้อได้ ในกรณีที่ปานมีขนาดใหญ่มาก อาจเสี่ยงต่อการมีภาวะหัวใจล้มเหลว หรือเกิดเกร็ดเลือดต่ำ(เกิดจากปฏิกิริยาเกร็ดเลือดทำลายกันเอง) ซึ่งหากมีภาวะแทรกซ้อนควรรีบพาลูกพบแพทย์
- ปานแดงจากผนังเส้นเลือดผิดปกติ (Capillary malformation)
ลักษณะ : มักพบตั้งแต่แรกเกิด และจะอยู่ไปตลอดไม่จาง มักขึ้นอยู่ซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ปานชนิดนี้จะขยายขึ้นเรื่อยๆ ตามตัวของเด็กที่โตขึ้น รวมทั้งมีสีเข้มขึ้น นูนและขรุขระเพิ่มขึ้นตามอายุ
Concern : หากพบบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบดวงตา อาจมาพร้อมกับความผิดปกติของตาและสมองลูก ควรรีบพาลูกพบคุณหมอค่ะ เพื่อตรวจอาการ
- ปานโอตะ (Nevus of Ota)
ลักษณะ : พบในเด็กแรกเกิดและบางรายอาจมาพบเมื่อตอนเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะคล้ายปาน จุดสีน้ำตาลอมเทา น้ำเงินหรือม่วงที่รวมกันเป็นปื้น มักขึ้นบริเวณรอบตาและโหนกแก้มบนใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง แต่จะไม่จางหายไปได้เองเหมือนปานมองโกเลียน ปานโอตะไม่มีอันตรายเพราะจะไม่กลายเป็นมะเร็ง เมื่อเด็กโตขึ้นสามารถใช้เลเซอร์ในการรักษาได้ค่ะ
ได้รู้จักปานแต่ละชนิดกันไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกต “ปาน” บนตัวลูกน้อยว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง แต่อย่าเป็นกังวลมากเกินไป เพราะ “ปาน” นั้นอาจไม่ได้อันตรายอย่างที่คิดกลัว แต่ก็ไม่ควรละเลย ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนไปของ “ปาน “นั้นด้วย เพื่อความปลอดภัยของลูก