เด็กยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง หมายถึงการที่เด็กยึดติดกับความคิดของตนเอง ไม่เข้าใจว่าความคิดและความรู้สึกของตนเองแตกต่างจากผู้อื่น ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ตนมองเห็นกับสิ่งที่คนอื่นมองเห็น มักคิดว่าการรับรู้ของเขาเป็นสิ่งตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทำให้มีอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านสังคมของเด็ก ดังนั้นพ่อกับแม่ต้องแก้ไขปัญหาลูกยึดติดตนเองดังนี้ค่ะ
จับเข่าคุยกันถึงเรื่องที่ลูกเห็นต่างจากเพื่อน ให้สอนลูกด้วยการใช้เหตุผลให้เข้าใจง่ายและยกตัวอย่างประกอบที่ลูกจะสนใจ ทั้งนี้ต้องสอนไปด้วยความรัก เข้าใจ และอ่อนโยน
ปรับพฤติกรรมของลูก หากพบว่าลูกเห็นต่างจากเพื่อนจนก้าวร้าว พ่อกับแม่ต้องแก้ไขพฤติกรรมลูก ด้วยการยกตัวอย่างความดีของพ่อกับแม่และเป็นตัวอย่างให้ลูก ลูกจะเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมพ่อกับแม่
ฝึกการเข้าสังคม พาลูกไปเยี่ยมญาติ หรือพบปะครอบครัวใหญ่บ่อยๆ เพื่อให้ลูกมีโอกาสเล่นหรือมีปฏิสัมพันธ์ ลูกจะได้เรียนรู้การเข้าสังคม
พูดคุยกับลูกเรื่องชีวิตประจำวัน ชวนลูกคุยเกี่ยวกับโรงเรียน เช่น ถามเกี่ยวกับเพื่อน ครู คนอื่นๆ เพื่อให้ลูกได้ใช้ภาษาที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่นและลดการพูดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนเอง
สอนให้ลูกรู้จักแบ่งปัน ลูกรู้จักแบ่งปันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นใจคนอื่นด้วย เช่น การแบ่งของให้เพื่อนบ้าน แบ่งขนมให้เพื่อน และต้องฝึกการรอคอยตามความเหมาะสมด้วย เช่น การเข้าแถวรับบริการต่างๆ เป็นต้น
เล่านิทานเพื่อให้ลูกมีแรงจูงใจ การเล่านิทานก่อนนอนจะทำให้ลูกคลายการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางลงได้ เนื้อหาจะต้องเป็นเรื่องที่มีการแบ่งปัน ช่วยเหลือคนอื่น มีน้ำใจ เพื่อให้ลูกเลียนแบบพฤติกรรมทางสังคมที่ดีจากตัวละครในนิทาน
สรุปแล้วการเลี้ยงลูกไม่ยากค่ะ แต่ก็ไม่ง่าย คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจลูก สิ่งที่ลูกต้องการ ความต้องการ ความรู้สึกที่แท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกวิธี และไม่บั่นทอนความรู้สึกของลูกด้วยนะคะ รักลูกต้องเข้าใจลูกค่ะ