การเขย่าขา กัดเล็บ ถอนผม ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ทำ ก็ทำให้เสียบุคลิกได้ทั้งนั้น และยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจอีกด้วย ทั้ง ความพึงพอใจ ความคาดหวัง การติดในอารมณ์ จิตแพทย์จึงอธิบายไว้ดังนี้ค่ะ
พฤติกรรมการเขย่าขา กัดเล็บ ถอนผม เริ่มต้นเหมือนกัน คือ จากการกระตุ้นตัวเองเพียงเล็กน้อยจนติดเป็นนิสัย และกลายเป็นความเคยชินในที่สุด แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือ ความรุนแรงของพฤติกรรม ทั้งสามนี้ต่างกัน
การเขย่าขาเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงนัก มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งคุณหมอบอกว่าอาจเป็นผลมาจากการดูแลสั่งสอนที่ว่า ผู้หญิงจะต้องเรียบร้อย สาวน้อยจึงบังคับกิริยาอาการมากกว่า ในขณะที่พื้นฐานอารมณ์ของเด็กผู้ชายก็มักจะอยู่ไม่ค่อยนิ่งกว่าอยู่แล้ว ทั้งผู้ใหญ่ก็มักปล่อยไม่เข้มงวดเรื่องกิริยาอาการเท่าเด็กหญิง
เกิดจากความเบื่อ จึงต้องทำอะไรเพื่อกระตุ้นตัวเอง แล้วก็เคยชิน เมื่อความเคยชินของเด็กเกิดไปขัดกับสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง การเขย่าขาจึงถูกมองว่าเป็นปัญหา เรามักจะพบบ่อยในครอบครัวที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม เวลาเห็นเด็กนั่งเขย่าขาก็จะทนไม่ได้ กลายเป็นความขัดแย้ง และเกิดปัญหาทางอารมณ์ตามมา แทนที่จะหยุด โดนจี้จุดก็ยิ่งเขย่ามากขึ้นอีก ทางแก้คือ ควรหากิจกรรมอื่นมาเบนความสนใจ อย่าไปจี้จุดเขา หมอก็เป็นคนหนึ่งที่สมัยเด็ก ติดนิสัยเขย่าขา แล้วอยู่ ๆ มัน ก็หายไปได้เอง ตรงนี้ขึ้นอยู่กับคนมองมากกว่า
สามารถพบเด็กที่มีการกระตุ้นตัวเองสูง และค่อนข้างรุนแรงได้ตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ ด้วยการเอาหัวโขกพื้นบ้าง โขกฝาบ้าง เพียงเพราะเขาเบื่อ หรืออยากให้คนสนใจ เด็กอีกกลุ่มที่พบว่ามีการกระตุ้นตัวเองสูงคือ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งมักจะนั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ก็ไม่ใช่ว่าเห็นเด็กเขย่าขาแล้ว จะต้องเป็นสมาธิสั้นหมดทุกคน ต้องดูอาการอื่นประกอบด้วย เช่น ความสนใจสั้น ซุกซนมาก หกล้มหกลุกบ่อย เจ็บตัวได้ง่าย และค่อนข้างก้าวร้าวกว่าเด็กทั่วไป
แต่ทั้งนี้ต้องดูเรื่องการเลี้ยงดูโดยไม่ได้สอนวินัยให้กับลูกด้วย เพราะเด็กที่ไม่ได้ถูกสอนวินัยนี้ เวลาที่เขาเครียดมักจะแสดงออกในลักษณะซนมาก แต่ถ้าตัดประเด็นนี้ได้ก็ให้สงสัยว่า เด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้นได้
สิ่งที่พบบ่อยในเด็กกัดเล็บคือ เด็กมีภาวะ เครียด หรือเศร้า เป็นการแสดงออกถึงภาวะเก็บกดในจิตใจ แต่คุณหมอก็บอกว่าไม่เสมอไปอีกเช่นกัน
เด็กบางคนเครียดจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องที่เป็นไปตามพัฒนาการหรือของครอบครัว เช่น แม่มีน้อง ซึ่งเด็กอาจแสดงออกด้วยการกัดเล็บ แต่พอช่วงวิกฤตผ่านพ้นไป เด็กสามารถปรับตัวปรับใจได้แล้ว อาการก็จะหายไปเอง แต่จะมีส่วนหนึ่งที่กัดจนติดเป็นนิสัย จะยังไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรค แต่เรียกว่าเป็นการแสดงออกของความรู้สึกมากกว่า และพบว่าเป็นลูกวัยประถมมากกว่าวัยรุ่นเพราะพอโตเป็นวัยรุ่น เพื่อนล้อก็จะหยุด แต่จะแสดงออกภาวะเก็บกดนี้ทางอื่นแทน เช่น นั่งซึม เที่ยวเตร่ คบเพื่อนไม่ดี กลายเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
เมื่อเป็นเช่นนี้ พ่อแม่ต้องสังเกตว่าปัญหาการกัดเล็บของลูกเกิดจากอะไร แก้ไขได้ไหม เช่น เกิดจากพ่อแม่ทะเลาะตบตีกัน ตรงนี้พ่อแม่แก้ได้ไหม ถ้าเกิดจากความเครียดที่แก้ไขไม่ได้ เช่น แม่มีน้องใหม่ พ่อแม่ก็อาจแสดงความรักความใกล้ชิดกับลูกให้เหมือนเดิม หรืออย่างน้อยก็ไม่ให้เด็กรู้สึกแย่จนเกินไป แล้วก็ค่อยๆ ปรับพฤติกรรมการกัดเล็บของเขา
อาจใช้การสร้างแรงจูงใจทางบวก เพื่อเบี่ยงเบนให้ออกจากกิจกรรมนี้ เช่น ถ้าวันนี้ลูกไม่กัดเล็บเลย จะได้หนึ่งดาว หรือใช้สติ๊กเกอร์ติดไว้ที่เล็บ โดยให้เด็กเลือกเองว่า จะใช้รูปไหนทำให้เด็กกัดไม่ได้ แต่ชื่นชมตัวการ์ตูนในสติ๊กเกอร์แทน เรียกว่าเป็นกิจกรรมแฝง
ที่สำคัญ ไม่ควรไปชี้นิ้วว่าเด็กเพราะการย้ำแบบนี้ทำให้เด็กเครียดมากขึ้น และกระตุ้นให้ทำมากขึ้นไปอีก เวลาที่เด็กอยู่ลับหลังพ่อแม่ หมั่นสังเกตว่าลูกเรา เหงาหรือเปล่า เบื่อหรือเปล่า แก้เสียโดยหากิจกรรมให้เขาทำ
เมื่อมีความกังวล เด็กๆ ก็ทำได้เช่นกัน ถอนน้อยๆ ไม่เป็นไร แต่ถ้าถอนมากจนเป็นวงขาวนั้นไม่ดีแน่ๆ โรคนี้ดูเหมือนเป็นปัญหาทางพฤติกรรม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีปัญหาอารมณ์แฝงอยู่ เท่าที่พบเด็กที่มีพฤติกรรมแบบนี้มักจะเก็บกด ไม่ช่างพูด และรู้สึกอะไรก็อดทนกับความรู้สึกเหล่านั้น แสดงออกไม่เป็น ทักษะการแก้ปัญหาไม่ดี สะท้อนถึงพื้นฐานเด็ก ที่เราต้องแก้ไข
เรื่องถอนผมนี่ดูเหมือนจะเป็นพฤติกรรมที่หนักที่สุด ถึงขั้นเป็นโรคได้ทีเดียว หากเด็กมีพฤติกรรมถอนผมซ้ำๆ กันมากๆ จนสังเกตเห็นหัวล้านเป็นหย่อมๆ ตรงนี้แพทย์สามารถวินิจฉัยว่า เด็กมีความผิดปกติทางจิตใจ เรียกว่า โรคทิโชทิโลมาเนีย (Trichotilomania) คือโรคที่ไม่สามารถควบคุมความต้องการที่พุ่งขึ้นมาจากภายในได้ พบตั้งแต่เด็กวัยเรียนไปจนถึงผู้ใหญ่
ถ้าลูกของเราอยู่ในข่าย อย่ารอช้า ช่วยกันปรับกิริยาท่าทีของสาวน้อยหนุ่มน้อยกันหน่อย ก่อนที่จะเป็นบุคลิกติดตัวไปจนโต ให้เพื่อนฝูงล้อเลียนจนต่อมกลุ้มของพ่อแม่ลูกต้องทำงานกันอีกครั้ง
โดย : พ.ญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์