A : ลูกชายวัย 2 ขวบนอนน้อยมาก จะมีผลต่อการพัฒนาสมองหรือเปล่าคะ กลางวันจะนอน 1 ชั่วโมง ส่วนตอนเย็นนอน 4-5 ทุ่ม เวลาพาลูกชายนอนก็จะถามหา ตา ยายและคนอื่นๆ ในบ้าน พอดิฉันบอกว่านอนกันแล้ว ลูกชายจะเปิดประตูออกจากห้องและลงไปหาตา ยาย ข้างล่างเพราะลูกชายเห็นเปิดไฟอยู่ (ลูกชายเป็นเด็กที่ไม่กลัวอะไรเลย ไม่รู้จะเอาอะไรมาหลอกเวลาเขาดื้อ) และถ้ากรณีที่ไฟปิดแล้ว ก็เป็นปัญหาอีก เพราะลูกชายจะพยศ และดึงดิฉันออกจากห้องด้วย และร้องไห้โดยไม่มีเหตุผลเพื่อให้ดิฉันอุ้ม อาจเป็นเพราะลูกชายง่วงมากๆ เลยงอแงเหมือนกับคนง่วงจัด บางทีดิฉันก็เผลอตีลูกชายเหมือนกัน เพราะเหนื่อยมาก และต้องดูแลคนเดียว ส่วนสามีทำงานอยู่ต่างจังหวัด และดิฉันกำลังตั้งท้อง 7 เดือนด้วยค่ะ
นุสรา / สมุทรปราการ
Q : เห็นใจคุณแม่จริงๆ ค่ะที่ท้องตั้ง 7 เดือนแล้ว ยังต้องดูแลลูกอีกคนที่มีลักษณะของเด็กที่ปรับตัวยากพอสมควร ขอเป็นกำลังใจให้เต็มที่เลยนะคะ และหมอก็มั่นใจว่าคุณแม่ที่ใส่ใจลูกและสนใจอ่านนิตยสารรักลูกเป็นประจำจะสามารถดูแลลูกได้อย่างถูกต้องและปัญหาก็จะค่อยๆ คลี่คลายได้ค่ะ
การนอนในเด็กอายุประมาณ 2 ขวบโดยทั่วไปควรจะอยู่ประมาณ 12 ชั่วโมงใน 24 ชั่วโมงค่ะ ในกรณีนี้คุณแม่ไม่ได้บอกมาว่า ตอนเช้าลูกตื่นกี่โมง เลยไม่ทราบว่าทั้งวันเขานอนรวมกี่ชั่วโมง การนอนน้อยเกินไปจะมีผลต่อการพัฒนาการได้ทุกด้าน โดยเฉพาะการเรียนรู้ ซึ่งสังเกตได้ว่าเด็กนอนไม่พอจะความจำไม่ดี ขี้ลืม ขาดสมาธิ เหม่อลอย ด้านอารมณ์ ก็อาจหงุดหงิดงอแงและแปรปรวนง่าย ด้านการเคลื่อนไหวมักพบว่าเด็กจะเคลื่อนไหวน้อย ดูไม่สดชื่น หรือตรงกันข้ามคือ เด็กอาจอยู่ไม่นิ่งดูเหมือนเด็กสมาธิบกพร่องก็มีเหมือนกัน ผลเสียเหล่านี้ไม่ได้เป็นอย่างถาวร เพราะฉะนั้นถ้าเด็กได้เปลี่ยนแปลงสุขนิสัยการนอนให้เหมาะสม ผลเสียเหล่านี้จะหายไปได้ แต่มีความเป็นไปได้ว่า เด็กอาจจะมีความสูงน้อยกว่าที่ควร เพราะการนอนดึกไปลดการหลั่งของฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต (growth hormone) ได้
การบังคับหรือหลอกเด็กโดยการขู่เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ควรทำในทุกกรณี เพราะ ”การขู่” เราจะพูดให้น่ากลัว แต่เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำให้เด็กเห็นจริงไม่ได้ ซึ่งการที่ลูกของคุณไม่กลัวอะไรเลยนั้น อาจเป็นเพราะเขาไม่เคยเห็นว่าสิ่งที่คุณแม่ขู่ไว้เกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้ ต่อไปเมื่อเด็กรู้ว่าผู้ใหญ่พูดไม่จริง ก็จะไม่เชื่อถือคำพูดของผู้ใหญ่ และอาจเลียนแบบหรือไม่ก็อ้างสิทธิที่ตนเองจะพูดไม่จริงบ้าง
การฝึกให้เด็กนอนหลับเป็นเวลาควรจัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นลำดับเหมือนๆ กันทุกวันก่อนถึงเวลานอน โดยไม่เล่นหรือดูอะไรที่จะกระตุ้นให้เด็กตื่นเต้น สนุกสนาน หรือรู้สึกกลัวในช่วง 2 ชั่วโมงก่อนนอน เช่น จัดให้เด็กดื่มนม ต่อด้วยแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน ปูที่นอน และ อ่านหนังสือนิทานให้ฟัง ปิดท้ายด้วยการสวดมนต์ เป็นต้น ไม่ควรทำสิ่งอื่นในห้องนอนเพราะอาจทำให้เด็กชินกับการไม่ง่วงนอนเมื่ออยู่ในห้องนอนค่ะ
ถ้าเด็กนอนดึกเป็นประจำมานานแล้ว การปรับเวลานอนให้เร็วขึ้นเป็นชั่วโมงทันทีมักทำไม่ได้ จึงต้องค่อยๆ เปลี่ยนเวลานอนให้เร็วขึ้นประมาณครั้งละ 15 นาทีต่อสัปดาห์ เพื่อให้เด็กปรับตัวทัน ถ้าเด็กบอกว่าต้องการจะรอเข้านอนพร้อมผู้ใหญ่ก็ให้บอกว่าไม่ได้ โดยอาจให้เหตุผลง่ายๆ ว่า การที่ผู้ใหญ่ยังไม่นอนก็เพราะผู้ใหญ่ไม่ต้องโตแล้ว แต่ลูกยังเด็กอยู่ ซึ่งถ้าเด็กๆ นอนไม่พอจะโตช้า เด็กโดยทั่วไปอยากโตเร็วๆ กันทั้งนั้นค่ะ ก็จะยอมนอนเร็วขึ้น ในกรณีนี้เด็กยังไม่ไปโรงเรียน จึงอาจจะตื่นสายไม่เป็นเวลา แต่ถ้าคุณแม่จะเริ่มจากฝึกลูกให้ตื่นเป็นเวลาก่อนก็ได้ เพื่อที่จะได้จัดเวลาเข้านอนให้เร็วขึ้นภายหลังได้ง่ายขึ้นค่ะ
โดย: พญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธ์