ตอนพูดคุยกับลูกทารก พ่อแม่จะเผลอใช้เสียงสอง เสียงเล็กเสียงน้อยน่ารักโดยอัตโนมัติและลูกก็ชอบด้วย เพราะลูกทารกกำลังให้ความสนใจกับเสียงสูงต่ำของพ่อแม่อยู่ค่ะ
ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องใช้เสียงสอง พูดเสียงสองเสียงเล็กน่ารักคุยกับลูกทารก
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอยู่ค่ะ ตั้งแต่สมัยที่เจ้าตัวเล็กอยู่ในท้องเริ่มตั้งแต่เซลล์พัฒนาใบหน้า สมอง หู ตา จมูก ปาก ลูกก็เริ่มได้ยินเสียงแล้วค่ะ นั่นก็คือช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังตั้งครรภ์ และก็จะค่อย ๆ ได้ยินเสียงชัดขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งช่วงที่คุณหมอคุณพยาบาลแนะนำให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังมักจะอยู่ตั้งแต่ช่วงเดือนที่ 4 ที่ 5 นี่ละ
ด้วยความที่คุณแม่เป็นคนอุ้มท้องลูก เป็นเรื่องปกติที่ลูกจะคุ้นเคยเสียงแม่มากกว่า ซึ่งเสียงผู้หญิงเราจะเป็นเสียงแหลมสูงไม่ใช่เสียงทุ้มต่ำแบบผู้ชาย ยิ่งเวลาพูดกับลูกในท้องแม่มักจะมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ละมุนละไม เข้าไปด้วย เมื่อลูกคลอดออกมาเขาจึงคุ้นกับเสียงแม่และชอบโทนเสียงสูงมากกว่า
เรื่องนี้มีนักจิตวิทยาเคยให้คำตอบเอาไว้เช่นกัน คุณ Courtney Glashow นักจิตวิทยาและเจ้าของสถาบัน Anchor Therapy ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกาบอกว่า การพูดเสียงสองกับเด็กทารกเป็นสัญชาตญาณในการสื่อสารของมนุษย์ เพราะเราทราบดีอยู่แล้วว่าเด็กยังไม่เข้าใจภาษา ไม่สามารถพูดได้ แต่เด็กสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ได้ ดังนั้นเวลาคุยกับทารกเราจึงใช้โทนเสียงที่สูง มักจะพูดช้าลง ใช้คำง่าย ๆ และพูดซ้ำ ๆ กับเขาค่ะ เพื่อแสดงออกว่าเราเป็นมิตร แม่กำลังแสดงความรักกับหนูอยู่นะ
การพูดเสียงสองกับลูก พูดช้า ๆ พูดซ้ำ ๆ ช่วยกระตุ้นความสนใจของลูก แถมยังช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางภาษาและการพูดของเด็ก ๆ ด้วยค่ะ โดยช่วงที่พ่อแม่ใช้เสียงสองคุยกับลูกควรอยู่ในวัย 0 – 6 เดือนค่ะ เขาจะรู้สึกตื่นเต้น ตั้งใจฟัง เมื่อเข้าวัย 5 เดือนลูกจะเริ่มเลียนเสียงต่าง ๆ ที่ได้ฟังมากขึ้น พออายุ 8 เดือน พ่อแม่ต้องระวังเรื่องการออกเสียงแล้วค่ะ เพราะช่วงนี้ลูกจะเริ่มพูดได้เป็นคำมากขึ้น ทักษะภาษาและการสื่อสารดีขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนจากเสียงสองเป็นเสียงปกติ เพราะเราต้องออกเสียงเป็นคำที่ชัดเจน พูดประโยคสั้น ๆ และเข้าใจง่าย
ไม่ใช่ว่าพ่อแม่คุยกับลูกแล้วต้องใช้เสียงสองเท่านั้นลูกถึงจะมีพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสารดี เราต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นด้วยค่ะ
- ภาษาท่าทางและน้ำเสียงต้องนุ่มนวลอ่อนโยน เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ไว้วางใจ ห้ามอารมณ์เสียใส่ลูก เพราะลูกยังเล็กเกินกว่าจะรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ
- ใช้คำซ้ำและเน้นคำที่สำคัญ โดยเฉพาะช่วงเวลาที่กำลังพยายามจะสอนลูก เช่น การเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ เพื่อให้เขารู้จักชื่อตัวเอง
- เรียกชื่อสิ่งที่เห็น แม้ลูกจะยังพูดตามไม่ได้ แต่ลูกก็สามารถจดจำและเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูดได้
- มีเสียงประกอบสิ่งที่พูดถึง เช่น พูดถึงแมว ก็ออกเสียง “เมี๊ยว” และทำท่าเลียนแบบแมวไปด้วย
- พูดชมลูก ทุกครั้งที่ลูกพยายามพูดหรือสื่อสารได้ถูกต้อง อย่าลืมกล่าวชมเป็นกำลังใจให้ลูกด้วยนะคะ
- สบตากับลูกเสมอ ทุกครั้งที่พูดคุยกับลูก เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ตั้งใจคุยกับเขา
ข้อดีของการพูดคุยกับลูกทารก
เมื่อลูกได้เห็นสีหน้า ได้ยินเสียง ได้ออกเสียงแล้วมีการตอบสนองกลับมา จะส่งผลให้ลูกอยากพูด อยากโต้ตอบ อยากมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่มากขึ้น ซึ่งเสียงเล็กๆ ของลูกนี่แหละค่ะ จะเป็นพื้นฐานที่ดีที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้ลูกได้
- เป็นทักษะการสื่อสาร การออกเสียงเป็นการสื่อสารของลูกตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ลูกสื่อสารด้วยเสียงร้อง ไม่ว่าจะหิว เจ็บ ร้อน ไม่สบายตัวก็จะบอกออกมาเป็นเสียงร้องเพื่อให้ได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่
- สร้างความผูกพัน การส่งเสียงยังเป็นการสร้างความผูกพันและความเชื่อมั่นที่ลูกมีต่อพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อลูกร้องต้องได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่ทันที ซึ่งการตอบสนองทันที หรือเรียกว่า Basic Trust จะทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ เมื่อโตขึ้นจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดี มีความมั่นคงทางอารมณ์
- พัฒนาภาษา เวลาลูกยิ้ม หัวเราะ พ่อแม่มาคุยเล่นกับลูกด้วย จะทำให้ลูกเรียนรู้เสียงที่หลากหลายขึ้น และอยากทำเสียงหรือพูดตามเสียงนั้น ซึ่งการเล่นเสียงจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของลูกให้ดีขึ้น
- ส่งเสริมการอ่าน การเขียน พ่อแม่ที่ใช้เสียงพูดคุยกับลูก ส่งเสียงต่างๆ กับลูก จะช่วยกระตุ้นการพูดคุยของลูก หรือการให้ลูกได้เลียนเสียงต่างๆ จะส่งผลดีต่อระบบประสาทด้านการรับฟัง ทำให้ลูกมีสมาธิ และช่วยเรื่องการแยกแยะเสียงได้ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสะกดคำ การเชื่อมโยงพยัญชนะกับสระต่างๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการเรียน การอ่าน และการเขียนที่ดีต่อไป
ทุกวันนี้ถึงแม้ว่าลูกจะโตแล้ว พูดคุยเสียงดังฟังชัดแล้วแต่พ่อแม่จะกลับไปใช้เสียงสองกับลูกก็ได้นะคะ ถือเป็นการสร้างสีสันในครอบครัวและเป็นการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
อ้างอิง :