โคลิก (Colic) อาการร้องไห้ไม่หยุดอย่างไม่มีสาเหตุ มักเกิดกับเด็กทารกอายุ 1-3 เดือน อาการโคลิกมีวิธีสังเกตและเป็นอย่างไร แม่จะแก้ไขอาการโคลิกได้อย่างไรบ้าง เรามีคำแนะนำค่ะ
ลูกเป็นโคลิก อาการโคลิกร้องไห้ไม่หยุด แม่มือใหม่ต้องรับมือยังไง
พ่อแม่มือใหม่ถึงกับปวดหัวกับลูกแรกเกิดที่อยู่ ๆ ก็มีอาการร้องไม่หยุด ต่อเนื่องหลายวันจนเป็นเดือน ทั้งที่ป้อนนมจนอิ่มตามเวลา อุ้มกล่อมจนหลับ ห้องนอนไม่มีแสงไม่มีเสียงรบกวน แต่พอถึงเวลาเดิม ๆ โดยเฉพาะตอนกลางคืน ลูกก็จะร้องไห้ขึ้นมาเองไม่หยุด อาการแบบนี้อาจเข้าข่ายโคลิกได้ค่ะ เรามาดูกันว่า โคลิกคืออะไร อาการจริง ๆ เป็นอย่างไร และหาวิธีรับมือโคลิกกันค่ะ
โคลิก คืออะไร
โคลิก (Colic) คือ อาการที่เด็กทารกอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ร้องไห้อย่างหนักโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่สามารถกล่อมให้หาวิธีทำให้หยุดร้องในช่วงนั้นได้เลย มักเกิดกับเด็กทารกช่วงอายุ 1-3 เดือน แล้วจะค่อย ๆ ดีขึ้นหรือหายจากโคลิกได้เองช่วงอายุ 4 เดือน (ไม่เกิน 5 เดือน) โคลิกสามารถเกิดได้ทั้งกับทุกคนโดยไม่ได้จำกัดเพศ หรือสุขภาพ ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ว่าโคลิกเกิดจากอะไร จึงทำให้คุณหมอเด็กหลายคนให้สาเหตุไว้หลายอย่าง รวมถึงวิธีแก้อาการโคลิกและวิธีรับมือโคลิกก็มีหลากหลายเช่นกัน
โคลิกไม่ใช่โรคหรืออาการร้ายแรงค่ะ มักจะค่อย ๆ หายได้เอง แต่ถ้าหลัง 5 เดือนไปแล้วลูกยังร้องหนักเหมือนเดิม ต้องรีบพาไปพบหมอเพื่อตรวจอย่างละเอียด เพราะอาจเป็นไปได้ว่า ลูกมีความผิดปกติ มีโรคบางอย่างที่ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัวจึงร้องไห้ยาวนาน
อาการโคลิกเป็นยังไง
- ร้องไห้หนักมาก ในช่วงเวลาเดิม ๆ โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือหัวค่ำ บางคนก็จะตื่นมาร้องกลางดึก แต่จะเป็นเวลาเดิมเสมอ
- ร้องไห้ประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวัน สัปดาห์ละประมาณ 3 วัน ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 สัปดาห์
- อ้าปากกว้าง ร้องเสียงดัง ร้องเสียงแหลม แผดเสียงแบบไม่กลั้น
- ในเด็กบางคนอาจร้องจนหน้าแดง มีอาการเกร็งแขนขา กำหมัดแน่น ขางอเข้าหาหน้าท้อง
สาเหตุของอาการโคลิก
ปัจจุบันยังไม่มีการวินิจฉัยที่ระบุสาเหตุของโคลิกอย่างชัดเจน แพทย์จึงสันนิษฐานว่า โคลิกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุที่ส่งผลต่อความสบายตัวอย่างเด็ก เช่น
- มีลมหรือแก๊สในท้องมากเกินไปจากการกินนมผิดวิธี ทำให้ไม่สบายท้อง หรือในบางกรณีทารกดื่มนมชงที่ย่อยยาก ทำให้ท้องอืด
- อาจมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร ทำให้ปวดท้อง
- ในห้องนอนมีแสง เสียง หรือกลิ่นที่รบกวนการนอน ทำให้ร้องไห้งอแง
- การพัฒนาของระบบประสาทที่ยังไม่สมบูรณ์ หรือการระคายเคืองของระบบประสาท
- ปัญหาทางสุขภาพของทารก เช่น กรดไหลย้อน หูอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ ไส้เลื่อน แพ้นมวัว ผื่นผ้าอ้อม เป็นต้น
- สุขภาพจิตของแม่ เพราะบางครั้งที่คุณแม่มีภาวะเครียด หดหู่ หรือซึมเศร้าหลังคลอด อาจส่งผลถึงอารมณ์ทารกเช่นกัน
แก้อาการโคลิก ป้องกันโคลิกอย่างไร
- ให้ลูกกินนมเป็นเวลา ไม่มากไปหรือน้อยไป และให้กินนมในท่าที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันลูกกลืนลมเข้าท้องมากไป
- หากเข้าเต้า ปากลูกต้องครอบไปถึงลานนม คางชิดเต้า จมูกเชิด เป็นท่าที่ลูกดูดและกลืนนมได้อย่างถูกต้อง
- หากลูกกินนมจากขวด จุกนมต้องพอดีกับขนาดปากลูก ปิดฝาขวดนมให้ดี ไม่มีอากาศมากเกินไปตอนลูกดูดนม
- หลังให้นมลูกแล้ว ควรอุ้มเรอนมก่อนทุกครั้ง
- จัดห้องนอนให้เงียบและไม่มีแสง เพื่อให้ลูกรู้สึกสงบที่สุดในการนอน หรืออาจเปิดเพลงประเภท White Noise ช่วยให้ลูกผ่อนคลาย ดูลิสต์เพลงกล่องเด็ก เพลง White Noise
- ห่อตัวลูกตอนนอน และต้องมั่นใจว่าเปลี่ยนผ้าอ้อมสะอาด ไม่อับชื้นก่อนนอน เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย หลับง่ายขึ้น
- นวดตัวลูกเพื่อให้ผ่อนคลาย รู้สึกสบายตัว
- เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะการเข้าเต้า เพราะนมแม่ย่อยง่าย สบายท้อง และทำให้ลูกรู้สึกอบุอุ่นปลอดภัย ไม่ผวา หลับง่าย
- กรณีที่ลูกดื่มนมชง อาจเลือกนมสูตรย่อยง่าย โปรตีนย่อยง่าย ป้องกันอาการท้องอืดหรือท้องผูก
อาการโคลิกแบบที่ไหนที่ควรพบแพทย์โดยด่วน
- ร้องหนักตลอดทั้งวัน หรือร้องจนสำลัก ไอมาก
- มีอาการชักเกร็ง
- มีไข้ ถ่ายเหลวมีเมือกหรือมีเลือดปน ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ ไม่สบาย
- หลัง 6 เดือนไปแล้วยังร้องไห้แบบเดิม ต้องปรึกษาคุณหมอ เพราะลูกอาจมีความผิดปกติ เช่น ระบบประสาท มีปัญหาลำไส้ เป็นต้น