เวลาลูกทารกร้องไห้นาน ๆ แล้วพ่อแม่ไม่รีบอุ้มปลอบเพราะกลัวติดมือ ระวังไว้นะคะเพราะนั่นอาจเป็นต้นเหตุของพัฒนาการทารกล่าช้า และสร้างความเครียดให้ลูกทารกได้
เมื่อเด็กร้องแล้วคนเฒ่าคนแก่บอกว่า "อย่าไปอุ้ม เดี๋ยวลูกจะติดมือนะ ปล่อยให้มันร้องไปเลย เดี๋ยวเหนื่อยก็หยุดเอง" ขอบอกว่าเด็กติดมือไม่มีจริงนะคะ และการปล่อยลูกร้องไห้ไปอย่างนั้นเรื่อย ๆ จะส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของลูกอย่างคาดไม่ถึงเลยค่ะ มาดูกันเลยว่าทำไม
ในเด็กวัยแรกเกิดไปจนถึง 1 ปีแรกนั้น เด็กจะยังสื่อสารกับพ่อแม่ไม่ได้ จึงต้องใช้วิธีการร้องไห้เพียงอย่างเดียว การร้องไห้ของเด็กวัยนี้ เกิดจากสาเหตุหลักๆ คือ รู้สึกหิว รู้สึกเหนื่อยและไม่สบายตัว และเกิดอาการกลัว จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่รวดเร็วจนเกินไป เป็นต้น เมื่อพ้นช่วงระยะ 3 เดือนไปแล้ว เด็กจะค่อยๆ ปรับตัวได้ และจะร้องไห้น้อยลง เพราะส่วนมากจะร้องไห้เพื่อบอกความต้องการมากกว่าค่ะ
การร้องไห้ของเด็กไม่ได้เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสมองโดยตรง แต่จะเกิดกับพัฒนาการทางอารมณ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสมองมากกว่าค่ะ เมื่อเด็กร้องไห้ ร้องจนเหนื่อยสะอื้น แล้วยังไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ปลอบโยน ก็จะทำให้เด็กมีอาการเครียดอย่างรุนแรง
และเมื่อเครียด ร่างกายก็จะหลั่งสารเคมีต่างๆ โดยเฉพาะฮอร์โมน "คอร์ติซอล" ที่จะหลั่งอะดรีนาลีนต่อเนื่องมาอีกในปริมาณมาก ซึ่งจะส่งผลกับพัฒนาการของเด็ก และสภาพจิตใจ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยครั้ง ก็มีแนวโน้มที่เด็กจะมีอาการของโรคซึมเศร้าตั้งแต่วัยเด็ก และอาจมีพัฒนาการที่ช้าลงกว่าเดิม เพราะสารเคมี เข้าไปขัดขวางการทำงานของเซลล์สมองนั่นเองค่ะ
รู้แบบนี้แล้ว อย่าปล่อยให้ลูกร้องไห้นาน ๆ นะคะ เพื่อความสุขและพัฒนาการที่ดีของลูก ใช้เวลาไม่นานในการปลอบโยนเขาก็หยุดร้องแล้วค่ะ