ผดกับผื่นนั้นต่างกันอย่างไร พ่อแม่จะมีวิธีดูแลปกป้องผิวลูกน้อยแบบไหนบ้าง เรื่องนี้คุณหมอมีคำแนะนำมาฝากค่ะ
ปกป้องผิวลูกให้ห่างไกลผดผื่น ผดผื่นตามตัวลูกทารก
ปัญหาผดผื่นของเด็กทารกนับว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่เคยได้เลยค่ะ เนื่องจากบ้านเราเป็นเมืองร้อน ผดผื่นจึงมักขึ้นตามตัวของลูกบ่อยๆ แต่ว่าผดกับผื่นนั้นต่างกันอย่างไร พ่อแม่จะมีวิธีดูแลปกป้องผิวลูกน้อยแบบไหนบ้าง เรื่องนี้คุณหมอมีคำแนะนำมาฝากค่ะ
ผดกับผื่นต่างกันอย่างไร
ผดผื่นมักถูกเรียกติดกัน แต่ความจริงแล้วลักษณะของผดกับผื่นไม่เหมือนกันเสียทีเดียวผดจะเป็นตุ่มเล็กๆ มักเกิดช่วงหน้าร้อน เรียกว่า ผดร้อน เนื่องจากต่อมเหงื่อยังทำงานไม่สมบูรณ์ ร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อนได้ดี จึงทำให้มีปัญหาผิวอุดตัน ส่วนผื่นจะเป็นเม็ดหรือปื้นนูนแดง มักเกิดจากอาการแพ้ต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ฝุ่นละออง เสื้อผ้า ของใช้ หรืออาหารต่างๆ ยิ่งพ่อแม่ที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้ ลูกยิ่งมีโอกาสเป็นผื่นคันได้ง่าย
ผดผื่นที่เด็กทารกมักเป็นบ่อย ๆ
- ผดร้อน
เป็นผดที่เกิดจากการอุดตันของผิวลูกเนื่องจากต่อมเหงื่อยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์นัก และมักเกิดในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะบริเวณ หน้าผาก หน้าอก หลัง คอ ข้อพับ หรือบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกับเสื้อผ้าบ่อยๆ
ลักษณะของผดร้อนมี 3 ชนิดด้วยกันคือ ชนิดแรกเป็นตุ่มเล็กใส ไม่คัน มักเป็นในร่มผ้า ชนิดที่ 2 เป็นตุ่มเล็กๆ สีแดง มีอาการคันร่วมด้วย และชนิดที่ 3 เป็นตุ่มสีขาวขุ่น มีการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย
การป้องกันรักษาผดร้อน
ดูแลความสะอาดของร่างกายลูกอยู่เสมอ อยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศ ทาแป้งเด็กให้ลูกหลังอาบน้ำ จะช่วยให้ผิวลูกแห้งสบายตัว ผ่อนคลาย โดยวิธีการทาแป้งที่ถูกต้อง คือเทแป้งลงฝ่ามือคุณแม่แล้วค่อยๆ ถู ก่อนนำไปทาบนผิวลูก จะช่วยลดการฟุ้งกระจายได้ และควรเลือกแป้งที่ไม่มีส่วนผสมทัลคัม เช่น แป้งข้าวจากธรรมชาติ
- ผื่นผ้าอ้อม
ลักษณะเป็นผื่นแดง ปื้นแดง หรือผิวหนังลอกออกเป็นแผ่นๆ ทำให้ลูกระคายเคืองเจ็บแสบ บางครั้งอาจเป็นแผลอักเสบ เพราะเมื่อผิวหนังที่เสียดสีกับผ้าอ้อมจนเป็นแผล เชื้อโรคในอุจจาระและปัสสาวะมีโอกาสแทรกซึมเข้าไปในแผลได้นั่นเอง
การป้องกันรักษาผื่นผ้าอ้อม
เมื่อผ้าอ้อมเต็มต้องเปลี่ยนทันที ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศ ก้น และบริเวณโดยรอบ ด้วยน้ำสะอาด ให้ใช้ผ้าอ่อนนุ่มซับเบาๆ จากนั้นให้ทาครีมรักษาผื่น และทาปิโตรเลียมเจล ทับอีกชั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ยาติดกับผ้าอ้อม และควรให้ผิวลูกได้พักบ้าง ช่วงที่ลูกหลับก็ไม่ต้องใส่ผ้าอ้อม หรือทิ้งช่วงสัก 10 นาทีก่อนการใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่
คุณแม่สามารถทาแป้งให้ลูกได้ เพื่อลดการเสียดสีระหว่างผิวลูกกับผ้าอ้อม แต่ควรเป็นแป้งเด็กที่มีอณูเล็ก ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ปกป้องผิวจากความชื้น และไม่เกาะติดกันเป็นก้อน ที่สำคัญต้องปราศจากทัลคัมด้วย
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี จะมีผื่นแดงขึ้นตามตัว ข้อพับแขน ขา ซอกคอ แก้ม หรือหนังศีรษะ ผิวแห้งแตกเป็นขุย มีอาการคันอย่างมาก เห็นเส้นลายผิวหนังได้ชัดเจน หรืออาจมีน้ำเหลืองซึม ซึ่งทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัวมากๆ
การป้องกันรักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ควรพาลูกไปพบแพทย์ เนื่องจากในเด็กบางคนที่มีผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาจจะมีแพ้อาหารร่วมด้วย จากนั้นให้หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมการแพ้ต่างๆ ไม่อาบน้ำอุ่นที่ร้อนเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งจนเกิดอาการคัน ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยาทาต้านอักเสบอื่นๆ หรือกินยาแก้แพ้สำหรับเด็ก ตามคำแนะนำของแพทย์ และงดให้ลูกกินอาหารที่จะกระตุ้นการเกิดผื่นแพ้ ที่สำคัญต้องดูแลผิวหนังของลูกน้อยโดยการทาครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ
- ผื่นจากต่อมไขมันที่ผิวหนังอักเสบ
เป็นผื่นแดงในบริเวณที่มีต่อมไขมันจำนวนมาก เช่นหนังศีรษะ คิ้ว หลังหู ซอกคอ รักแร้ ของลูกวัย 1-3 เดือน ลักษณะเป็นคราบไขมันคล้ายรังแคเป็นขุยหรือสะเก็ดสีขาวหรือเหลืองติดอยู่ ในวงการแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด มักไม่มีอาการคัน ระคายเคือง หรือทำให้ผมลูกร่วงนะคะ
การป้องกันรักษาผื่นจากต่อมไขมันที่ผิวหนังอักเสบ
ใช้ครีมอาบน้ำ แชมพูสระผม ครีมทาผิว ที่อ่อนโยนต่อผิวของเด็กแรกเกิด ใช้น้ำมันมะกอกหรือเบบี้ออยล์ทาเบาๆ บนคราบไขมัน ทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วสระผม เพียงแค่นี้คราบไขมันและผื่นจะค่อยๆ หายไป แต่ส่วนใหญ่แล้วเจ้าผื่นแพ้คราบไขมันหนังศีรษะนี้มักจะหายได้เองค่ะ
นอกจากนี้ ในช่วงหน้าฝนอากาศมีความชื้นสูง พ่อแม่ต้องดูแลผิวลูกให้แห้งอยู่เสมอ หากปล่อยให้ผิวลูกอับชื้นเชื้อราอาจถามหาได้ ดังนั้นผิวลูกต้องแห้งอยู่เสมอ ควรให้ลูกอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท เมื่ออาบน้ำให้ลูกเสร็จก็ควรเช็ดตัวให้แห้ง ใช้แป้งเด็กทาตัวลูก เพื่อให้ผิวแห้งสบาย ลดการระคายเคืองจากเหงื่อและความเปียกชื้น
ซึ่งแป้งที่ใช้ควรเป็นแป้งที่ผลิตจากธรรมชาติ เช่น แป้งข้าวธรรมชาติ ปราศจากทัลคัม โดยค่อยๆ เทแป้งบนฝ่ามือเล็กน้อยแล้วค่อยๆ ทาลงบนผิวของลูก แค่นี้ก็ช่วยให้ผิวลูกแห้งสบาย ปราศจากความอับชื้น ช่วยให้ลูกนอนหลับได้นานขึ้นแล้วค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก www.reiscare.com ตรวจสอบข้อมูลโดย พญ. รัตนา เพ็ญศรีชล
กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเวชธานี
(พื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์)