เพิ่งเคยได้ยินชื่อโรค “ไข้นอนกรน” หรือ “อะดีโนไวรัส” (Adenovirus) คิดว่าเป็นโรคใหม่ที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง แต่แท้จริงโรคนี้มีมานานแล้ว ความน่ากลัวคือเจ้าไวรัสชนิดนี้มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 วัน และอาการจะรุนแรงมากหากเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปีได้รับเชื้ออะดีโนไวรัส
อะดีโนไวรัส เป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกาย มักพบบ่อยใน เด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 5 ปี และมีโอกาสเกิดความรุนแรงได้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี หรือเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจหรือระบบหัวใจที่ผิดปกติ
ไวรัสชนิดนี้มักอยู่ในอากาศ และมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 30 วันตามพื้นผิวของวัตถุหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว สามารถระบาดได้เกือบทั้งปี แต่ช่วงที่ระบาดมากสุดคือฤดูหนาว
การติดต่อของไวรัสอะดีโนเกิดได้หลายทาง ได้แก่
1. สารคัดหลั่ง ละอองฝอย น้ำมูก น้ำลาย ไอจามใส่กัน
2. ติดต่อทางอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค และการสัมผัสโดยตรง ทั้งสัมผัสพื้นผิวปนเปื้อน หรือแม้แต่การกินอาหารร่วมกัน
เด็กที่ติดเชื้ออะดิโนไวรัสมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังพ่อแม่ได้ หากสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ หรือของเล่นของใช้ที่สัมผัสหรือใช้ร่วมกัน พ่อแม่ที่ได้รับเชื้อจากลูกจะมีอาการป่วยคล้ายกันแต่จะไม่รุนแรงเท่าเพราะผู้ใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าเด็ก
เด็กที่ได้รับเชื้ออะดีโนไวรัสจะมีอาการดังต่อไปนี้
ระบบทางเดินหายใจ : มีไข้ ไอ มีน้ำมูกไหล เจ็บคอ ตาแดง บางคนอาจมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปอดอักเสบ ทำให้หายใจหอบได้
ระบบทางเดินอาหาร : จะมีอาการถ่ายเหลว ท้องร่วง ท้องเสียง อาเจียน ปวดท้อง
โดยปกติเด็กจะหายจากอาการเหล่านี้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากเด็กมีอาการหายใจเหนื่อยหอบ ปีกจมูกบาน คอหอยและใต้ซี่โครงมีลักษณะบุ๋มขณะหายใจ มีน้ำมูกสีเหลืองหรือเขียว ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้
เนื่องจากโรคนี้ไม่มียาต้านเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ คุณหมอจะรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ เช็ดตัว ให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หรือบางคนอาจต้องให้น้ำเกลือ พ่นยาขยายหลอดลม ดูดเสมหะ หรือให้ออกซิเจนเมื่อมีการติดเชื้อที่ปอด
1. สอนลูกล้างมือให้ถูกวิธี ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
2. การรักษาความสะอาดเครื่องใช้ภายในบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ ของเล่นต่าง ๆ ที่หยิบ จับ สัมผัสเป็นประจำ
3. การหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ไม่พาลูกไปในแหล่งชุมชนที่มีคนแออัด โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ขวบที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ
4. สำหรับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปควรให้สวมหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก เมื่อออกนอกบ้าน และการเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างเหมาะสม
5. การกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง
6. พาลูกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่ดี