นิทานชุดในสวนของย่า เรื่อง โอ๊ะโอ! ขอโทษนะ และ เรื่อง ให้เวลาหน่อยนะ จะช่วยตอบคำถามที่ค้างคาในใจของพ่อแม่ได้ว่าทำไมลูกเราช้ากว่าคนอื่น? ทำไมคนอื่นต้องทำผิดกับเรา ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรให้เขาเลย?
คำถามที่ต้องการมุมมอง ความคิด เพื่อทำความเข้าใจกับพัฒนาการของลูกและสถานการณ์ปัจจุบัน
ชวนฟังแนวคิดและหลักคิดเพื่อนำไปปรับใช้เลี้ยงลูกได้จากนิทานของย่าติ่ง คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันรักลูกเลิร์นนิ่ง กรุ๊ป
ในสวนของย่า เริ่มจากที่ชวนหลานมาช่วยทําสวนครัวเล็กๆ บนหลังคาโรงรถ มันทําให้เราได้สังเกตชีวิตของพืชพันธุ์ ของผักที่เราปลูก แมลงต่างๆ มันทำให้มีชีวิตชีวา ซึ่งก็เป็นจุดที่ดึงความสนใจเด็กได้พอสมควร นิทานเรื่องให้เวลาหน่อยนะก็มาจาก จากการที่เราสังเกตว่าเวลาเราปลูกต้นไม้แม้จะปลูกพร้อมกัน แต่มันขึ้นไม่พร้อมกัน การเติบโตก็ไม่เหมือนกัน มันจะมีต้นใหญ่ต้นเล็ก แล้วแต่เหตุปัจจัย ก็เกิดไอเดียขึ้นมาว่าเด็กๆ ก็อาจจะต้องเข้าใจพัฒนาการของแต่ละช่วงเวลา สําหรับเด็กเขาน่าจะได้มีโอกาสรู้ว่า อะไรต่ออะไรมันก็ไม่ได้ต้องเป็นไปตามแบบนั้นแบบนี้เสมอไป ก็เลยใช้เรื่องต้นถั่วขึ้นมาเพื่อที่จะให้หลานได้เรียนรู้ เขาเองก็มีข้อสงสัยอยู่แล้วว่าก็หยอดเหมือนกันแล้วทำไมไม่โตสักที จากการที่ว่ามันไม่โตสักที ทําไมมันไม่เท่าคนอื่นไม่เหมือนคนอื่นก็เป็นที่มาของการเขียน
สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้จากเรื่องนี้คือ สิ่งต่างๆถ้าตามธรรมชาติ มันจะมีจังหวะเวลาของมัน เช่น ผักถ้าเป็นเมล็ดถั่วยังไงก็ต้องประมาณเกือบ 10 วัน กว่ามันจะงอกหรือถ้าเป็นผักเล็กๆน้อยๆประมาณ 4-5วัน แต่ละชนิดมันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเขาพอจะเข้าใจว่าแต่ละสิ่งนั้นมันมีจังหวะเวลาของมัน มันมีเวลาของชีวิตมันซึ่งไม่เหมือนกัน มนุษย์ สัตว์ ต้นไม่ก็มีเวลาของตัวเอง
เพราะฉะนั้นการที่เราเข้าใจก่อนว่าแต่ละสิ่งมีเวลาที่ไม่ตรงกันไม่เหมือนกันก็เป็นการทําความเข้าใจโลก ซึ่งการชวนให้เขาไปสังเกตเขาจะได้ความรู้ ได้ทักษะรวมทั้งได้เจตคติ Mindsetว่าธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น เราจะไปเร่งให้มันเร็วหรือทำให้สิ่งนี้ช้าลงก็ไม่ได้ เหมือนไปบอกผักว่าไม่อยู่บ้าน อย่าเพิ่งโตนะกินไม่ทันเราก็บอกมันไม่ได้ และสิ่งที่สําคัญก็คือถ้าเรารู้จักเวลามันจะทําให้เรารู้จักรอด้วย เราจะรู้จักรอ รู้ว่าอย่าเพิ่งไปเร่งมัน แล้วสิ่งที่ได้ประโยชน์มากก็คือคนอ่านพ่อแม่ก็ได้เข้าใจลูกไปด้วยว่า ลูกเราก็จะเหมือนต้นถั่วนี้แหล่ะ ถ้าอะไรที่เรารู้สึกยังไม่ถูกใจไม่ชอบใจ ทําไมทำนั่นทำนี่ไม่ได้ เราก็อาจจะต้องมาดูก่อนว่าอันที่หนึ่ง ใช่เวลาของเขาไหมยังรอได้ไหม อันที่สองมันจะนําไปสู่การเข้าใจที่มาของการที่มันไม่ได้ มันไม่ได้ต้องตรงกัน
เด็กในห้องเรียนห้องเดียวกัน ทําไมคนนี้สอบได้ คนนี้สอบไม่ได้ ทําไมลูกเขาได้ ABCแล้วทําไมลูกเราไม่ได้ กระบวนการทําความเข้าใจอย่างนี้ นอกจากจะมีเวลาเป็นตัวตั้งแล้ว มันยังมีการเข้าใจถึงปัจจัยและเหตุที่มาว่าทําไมเขาถึงไม่ได้ เด็กบางคนก็ช้ากว่าเพื่อนแต่เขาเป็นม้าตีนปลาย ดังนั้นการที่ผู้ใหญ่เข้าใจเราก็จะเปลี่ยน คือไม่ไปเร่งเด็ก ไม่คาดหวังเด็กเองพอเขาเข้าใจก็จะไม่คาดหวังทุกเรื่องมากจนเกินไป รู้จักจังหวะรู้จักรอคอย ใช้ธรรมชาติให้เขาได้เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลง และเด็กจะค่อยๆ เข้าใจธรรมชาติของตัวเองด้วย และปรับเข้ากับเรื่องอื่นด้วย อย่างเช่นบางที น้องชายบอกทําไมเขาไม่ได้อันนี้เท่านี้เท่านั้นเหมือนพี่ พี่ชายเขาตอบเองเลยก็พี่เกิดก่อนไงพี่ก็ต้องรู้ก่อน แล้วพี่ก็ต้องกินมากกว่าอะไรทํานองแบบนี้ พอจะมีคําอธิบายถูกบ้างผิดบ้างแต่อย่างน้อยก็ยังรู้จักเอาไปใช้
อีกเรื่องที่สําคัญเราจะพบว่าหลายอย่างเราแก้ปัญหาได้ เช่น สมมติว่าเรารู้ว่ามันโตช้ากว่าคนอื่นเราอาจจะต้องเติมดินเติมปุ๋ย เพราะว่าความต้องการ มันไม่เหมือนกั เมื่อเขาโตขึ้นเขาก็จะเข้าใจว่ามนุษย์ก็มีความต้องการไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าคนนี้เขาขาดสิ่งนั้นสิ่งนี้เราเติมเข้าไปก็ยังมีโอกาส ที่จะทําให้เขาเติบโตต่อไปได้ยังแก้ได้ไม่มีอะไรที่แบบว่าจะไม่โตเลย
หลังโควิดพ่อแม่เร่งเรียนลูกเป็นความเข้าใจของพ่อแม่ที่คิดว่าต้องอัดให้เท่ากับสิ่งที่เขาไม่ได้เรียนมา ก็คือเป็นการชดเชยที่ตรงไปตรงมาเพียงแต่ว่ามนุษย์ มันไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้นซะทั้งหมด เพราะว่าสิ่งที่หายไปมันไม่ใช่แค่เวลาที่เขาไม่ได้เรียนแต่สิ่งที่หายไปคือ เช่น เส้นใยประสาทมันไม่งอกในช่วงเวลานั้น ถ้ามันไม่มีอะไรกระตุ้นเลย ใช้แต่มือถือแล้วก็นั่งจับเจ่าอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นเส้นใยประสาทที่ควรจะงอกเมื่อเขาได้วิ่งเล่น ได้เจอผู้คน ได้อ่าน ได้อยู่กับเพื่อน พอมันไม่งอก มันคุดไปแล้วเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีอะไรมาบัง อาจจะโตได้ไม่เต็มที่ แต่ถ้าเราเอาสิ่งที่บังออกเราจะทําให้มันเท่ากับต้นที่โตไปแล้ว 1ฟุตได้ไหม อาจจะไม่ได้ เพราะว่ามันแกร็นไปแล้ว และถ้าจะทำให้โตเท่ากับอีกต้นที่มันไม่ถูกแกร็นก็คงจะต้องเอาใจใส่มากพอ มันอาจจะไม่ได้ต้องการแค่น้ำกับปุ๋ยเท่านั้น ต้องมีการพรวนดิน ดูแลกันอย่างละเอียด
เพราะฉะนั้นเด็กก็เหมือนกันหลังโควิดว่านอกจากจะต้องเข้าใจว่าพัฒนาการมันถดถอยไป ล่าช้าไป สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ หนึ่งต้องร้อนใจแต่ไม่ใช่ไปเร่ง โดยการไปอัดโน่น อัดนี่ ยัดเยียดทุกอย่างเข้าไป แต่เราต้องไปดูว่าที่จะทําให้เขาโตมันมีปัจจัยอะไรอีกบ้างที่มันไปครอบเอาไว้ เช่น ความสุขใยประสาทที่หายไป ก็เรื่องนึงแต่ถามว่าทําอย่างไรจะให้ใยประสาทโตขึ้นมา ก็ต้องมาจากการที่เด็กรู้สึกมีความสุข มีสมองส่วนอารมณ์ที่เบิกบาน มีความรู้สึกพร้อมอยากจะเรียน จะมีความรู้สึกว่าชีวิตเป็นปกติไม่เครียดเหมือนเมื่อก่อน
แต่ถ้าเติมแล้วสิ่งนั้นมันทําให้เขาทุกข์เครียดไปอีก สมองเขาก็จะชะงักอีก เพราะฉะนั้นกระบวนการของการที่เราจะทําให้เขาเลิกแคระแกร็นได้มันก็จะต้องมีความประณีต ซึ่งเวลานี้ก็เราก็ชี้กันไปแล้วว่าอย่างนี้ 1.แทนที่จะให้เด็กไปอ่าน คัด ABC อ่านตัวอักษรอย่างเดียวก็มาอ่านนิทาน
2.วิ่งเล่นและเคลื่อนไหวร่างกาย
3.ครูกอดและพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น
4.อ่านนิทานเยอะๆ แล้วก็พูดคุยซักถามไปเรื่อยๆ ชวนคิดชวนคุย ทํากิจกรรมต่อเนื่องมากขึ้น ให้เด็กได้ทำบทบาทสมมติ คือทําให้มันเกิดการงอกงาม เพื่อไปกระตุ้นให้มันกลับมาดีและก็พร้อมที่จะโตต่อไป
เนื่องจากว่าพอมันมีโควิดเด็กก็กระทบทุกด้านร่างกายก็เนือยนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวพ่อแม่ก็โยนมือถือให้เพราะว่าพ่อแม่ก็จะไม่มีเวลาทํางานแต่มันกลายเป็นทําร้ายลูก มีงานวิจัยว่าสายตาเด็กเสียไปเยอะ ด้านอารมณ์เด็กก็กระทบคือเด็กมันต้องวิ่ง ต้องวิ่ง ต้องเล่น ต้องอยู่กับเพื่อน ปรากฏว่าก็ไม่ได้วิ่งไม่ได้เล่นอะไรแล้วก็ใช้มือถือมากๆ สายตาก็ใช้งานหนักก็เครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นเด็กก็จะอารมณ์หงุดหงิดแล้วก็ไม่ค่อยมีความสุข โดยที่ผู้ใหญ่เราอาจจะไม่รู้ก็คิดว่านิ่งกับโอเคแล้ว นอกจากนี้ในเรื่องสังคมคือเด็กก็ไม่ได้อยู่กับสังคม เพราะการเข้าสังคมมันทําให้เด็กนอกจากจะเรียนรู้แล้ว ยังเป็นที่ระบายอารมณ์ ได้เล่นกับเพื่อนก็สนุกสนาน หัวเราะ แต่บรรยากาศอย่างนี้มันไม่มีมันหายไป แล้วก็ด้านจิตปัญญาเด็กไม่ได้เรียนอะไร แต่สิ่งที่เป็นห่วงกันมากที่สุดก็คือเส้นใยประสาทที่ช่ฃวงอายุ 3-6ปีจะแผ่ขยายมาก แต่พอไม่ได้มีกระบวนการเรียนรู้ มีประสบการณ์ที่ดี มันก็จะแกร็นแล้วถ้าพ่อแม่ ไม่เข้าใจก็ฟื้นไม่ได้ ผลกระทบก็คือเด็กก็อาจจะไม่ใช่คนที่พอใจต่อการเรียนรู้ ไม่ใช่เด็กที่อยากเรียนรู้ เพราะว่าสมองส่วนที่ควรจะกําลังเรียนรู้มันแกร็นไปแล้ว
เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นคนที่ไม่พอใจกับเรื่องต่างๆ เพราะภาวะอารมณ์โครงสร้างสมองมันทําให้กลายเป็นแบบนั้นไปแล้ว คือไม่ค่อยมีความสุข หงุดหงิดงัวเงียๆ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเป็น Learning Lossของจริง สิ่งที่เป็นข้อเสนอออกมาก็คือว่าต้องเร่งแก้ปัญหา เคสที่หนักๆ เช่น เด็กที่เจอกับความรุนแรงในบ้าน รวมถึง อ่านหนังสือชวนกันอ่านนิทานบ่อยๆ ให้เด็กไปวิ่งเล่น เรารณรงค์เรื่องกิจกรรมทางกายว่าต้องให้เด็กวิ่งทุกวัน ร่างกายได้ขยับขับเคลื่อน สมองได้ทํางาน ได้เล่นกับเพื่อน ได้หัวเราะ ได้อากาศที่เข้าไปปอดทํางาน ซึ่งต้องกลับมาทำอย่างจริงจัง
แล้วถามว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่ากิจกรรมที่เราทํามันจะพาเด็กไปสู่การแก้สถานการณ์นะคะหรือฟื้นฟูได้จริง วิธีเช็กเบื้องต้นคือ
1.เด็กมีความสุขหรือเปล่า มีความอยากทํากิจกรรมอะไรเหล่านี้ไปพร้อมกับคุณครูกับคุณพ่อคุณแม่ไหม
2.สัมพันธภาพดีไหมถ้าในกิจกรรมนั้นสัมพันธภาพดีเชื่อได้ว่าสมองส่วนอารมณ์เขาจะดีและมันก็พร้อมที่จะไปกระตุ้นสมองส่วนคิดให้ทํางาน
3.กิจกรรมนั้นทําได้หลากหลายอย่างหรือเปล่า เช่น สมมติว่าการอ่านหนังสือคือเด็กก็ได้อ่าน สมองได้ทํางาน แล้วครูก็ชวนทำท่า ต้นถั่ว ท่าที่มันกําลังเติบโตทํายังไงบ้าง เป็นMusic Movement ได้เคลื่อนไหวทั้งร่างกาย ทั้งสายตา ทั้งสมอง ประสาทสัมผัสทั้งหมดได้ทํางาน อย่างนี้จะช่วยกระตุ้นได้เร็ว
4.สิ่งนั้นมีความหมายต่อชีวิตของเด็กๆ ไหม เช่น จะพูดเรื่องถั่วเราก็อาจจะต้องดึงกลับมาว่าเด็กๆ เราไปปลูกสวนครัวกันไหมเรามีถั่วคนละต้น ชวนเด็กๆ นั่งเฝ้า เพราะฉะนั้นเด็กรู้สึกว่าสิ่งที่อ่านกับสิ่งที่เขากําลังจะทํามันเป็นเรื่องเดียวกัน มันมีความหมายต่อชีวิตเขา เดี๋ยวพรุ่งนี้ มะรืนนี้จะรดน้ํา จะเริ่มเกิดความรับผิดชอบจะเริ่มเกิดความรู้สึกผูกพันรอคอยว่าเมื่อไหร่มันจะโต เพราะฉะนั้น 4ข้อนี้จะเป็นตัวเช็ก ถ้ามันไปได้ดีผู้ใหญ่เราจะตอบตัวเองได้ว่าเกิดความสุขเกิดแรงจูงใจเกิดความสัมพันธ์ที่ดีเกิดการใช้ประสาทสัมผัสครบถ้วน ไม่ได้สอนอะไรที่ไกลตัวแล้วเด็กไม่รู้เรื่องไม่สนใจ ถ้าทำทั้ง 4ข้อนี้ได้ยังไงก็ฟื้นได้ค่ะ
ตามธรรมชาติของบวบจะสังเกตว่ามันโตเร็ว แล้วด้วยความที่ใบใหญ่ใบหนาก็จึงต้องมีจุดยึดเกาะที่แข็งแรง เพราะใบใหญ่และต้นยาวมาก เพราะฉะนั้นอะไรที่คว้าได้ก็จะคว้า แต่ประเด็นสําคัญก็คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการขอโทษ สมมติมีใครมาทําเราเจ็บคนนั้นก็ควรจะขอโทษใช่ไหมคะ แต่ว่าบางครั้งความไม่ตั้งใจที่ทำคนนั้นทำลงไปเด็กอาจจะไม่เข้าใจ ทําไมเขาต้องมาทําผิดกับเรา กรณีที่ไม่ตั้งใจจะเกิดขึ้นเยอะ เราจะทำให้เด็กเข้าใจ เรื่องนี้ได้ง่ายขึ้นอย่างไรบ้าง บางทีความปรารถนาดีของคนคนหนึ่งอาจจะทําให้เราไม่โอเค ไม่พอใจ เสียใจ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นกระบวนการ ที่ต้องสื่อสาร ถึงจะทําให้เด็กได้เรียนรู้สองเรื่องไปพร้อมกันคือหนึ่งคนไม่ตั้งใจมันมีอยู่เยอะ คนไม่ได้เพอร์เฟกต์หรอก แต่ว่าเบื้องหลังการทําผิดนั้น บางทีเราต้องไปทําความเข้าใจต้องใจเย็นพอที่จะให้โอกาสในการชี้แจงสื่อสาร แล้วเราก็จะพบว่าหลายเรื่องมันไม่ได้ร้ายแรงจนเราจะรับไม่ได้ ให้อภัยไม่ได้
ฉะนั้นนิทานเรื่องนี้ก็มีเรื่องการสื่อสารที่อยากจะเติมไป เช่น อ๋อขอโทษนะที่ฉันเอาใบไปบังเธอเพราะฉันก็เข้าใจว่าแดดมันร้อน แล้วฉันก็มีใบ ที่แข็งแรงก็ช่วยเธอเธอจะได้ไม่ต้องร้อนเกินไป แต่กลับกลายเป็นว่ามันไปทําให้ต้นมะเขือเทศก็ไม่ได้แดดเลย เพราะฉะนั้นการชี้แจงทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่ขอโทษก็ต้องชี้แจงว่าเราคิดอะไร เราพูดกันได้ตรงไปตรงมา ถ้าเด็กเค้ามีทักษะเหล่านี้ ก็จะไม่ใช่แค่พูดเพียงคําว่าขอบคุณหรือขอโทษ เท่านั้น แต่จะสามารถไปได้ลึกกว่านั้นจะเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างประณีต มันเป็นลึกอีกชั้นหนึ่งว่าถ้าเกิดเขาเข้าใจที่มาที่ไปของมัน เขาก็จะนําไปสู่วิธีการคิดต่อทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องขอโทษ เขาจะมีความเข้าใจคนอื่น แล้วเขาก็จะรู้ว่าเราก็มีโอกาสเป็นอย่างนั้น บางทีเราก็ไม่ตั้งใจ ที่จะไปทําอะไรกับคนอื่นแต่ว่าเพื่อนเจ็บซะแล้ว ความเข้าใจ สื่อสารและรู้วิธีอธิบายเรื่องต่างๆ มันก็จะประสานไมตรีกันได้ง่ายขึ้น ก็จะทําให้เขา สามารถอยู่ร่วมได้กับคนอื่นได้อย่างเป็นปกติสุขที่สุด
เรื่องโอ๊ะโอขอโทษนะ ได้เรื่อง Empathy การเข้าอกเข้าใจว่าถ้าฉันเป็นเธอฉันจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่สําคัญมาก ถ้าเราไปอยู่ในสถานการณ์ของเขาเราจะทํายังไง ถ้าเราเจอแบบนั้นเราจะทํายังไง เราจะจัดการไง เพราะฉะนั้นการคิดแบบนี้มันเป็นการคิดสองชั้น ไม่ใช่แค่ว่าผิดแล้วขอโทษ แต่ว่าถ้าฉันเป็นถ้าเขาเป็นเราเขาคงจะทําอย่างงี้มั้งหรือเราเป็นเขาเราก็อย่างงี้มั้ง
การคิดอย่างนี้มันคือการยืดหยุ่นการที่พร้อมจะให้อภัยมันก็จะมาจากตรงนี้ แล้วมันไม่ได้เพราะว่าเธอแย่กว่าฉัน ฉันสงสารเธอแต่ว่าถ้าฉันเป็นเขา ถ้าเขาเป็นฉันเราจะเหมือนๆ กัน เราต่างมีความรู้สึกได้แบบนี้เหมือนกัน เรามีความเสียใจได้ เราทําผิดได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นการเข้าใจตัวเอง แล้วก็เข้าใจคนอื่นด้วย แล้วก็เปล่งวาจาออกมาว่าขอโทษนะด้วยเหตุแบบนี้นะ ก็จะช่วยลดความขัดแย้ง เป็นการประนอมกันมันคือการทําความเข้าใจ
ในเรื่องEFก็เช่นกัน เราสามารถเอาสถานการณ์มาถามเด็กได้ว่าตอนไหนที่รู้สึกโกรธเพื่อน เพื่อนทําอะไรให้เราโกรธ แล้วเขาคิดอย่างไง กับสิ่งที่เพื่อนทำ หรือหลังจากที่อ่านหนังสือแล้วก็คุยกัน เด็กจะได้กลับไปทบทวนความรู้สึกตัวเอง มุมมองของตัวเอง วิธีปฏิบัติที่ตัวเองควรจะทํา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้พี่มองว่าเวลานี้โอกาสที่คนจะเข้าใจกันมันน้อยลงเพราะว่าอะไรๆมันก็เร็วแล้วมันก็จะมีสื่อกั้น เช่น บางทีเขียนในไลน์ มนุษย์ควรมีโอกาสปฏิสัมพันธ์เห็นหน้าตา แต่ตอนนี้ Face to Face มันน้อย เพราะฉะนั้นความเข้าใจกันอย่างลึกซึ้งก็จะน้อย อย่างเวลาเราเขียนขอโทษ ตอนพูดยากกว่ากันเยอะเขียนขอโทษมันจบ มันก็ดูเหมือนก็ไม่เป็นไร แต่เวลาเราจะพูดต่อหน้าเขาว่าขอโทษนะ มันใช้ความรู้สึกตัวเอง เป็นความรู้สึกที่จริงๆ ของเรา
เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะต้องให้เด็กๆได้มีโอกาสเรียนรู้แบบว่าไม่ต้องไปผ่านสื่ออะไร เอาความรู้สึกเราแล้วก็ที่สําคัญอธิบายชี้แจง เอาความจริงมาสื่อสารกันแล้วค่อยๆ ประนอมเรื่องต่างๆ ให้มันไปในทางบวก ก็จะช่วยให้เด็กมีชีวิตที่ง่ายขึ้นตั้งแต่เรื่องเล็กๆไปถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่เราเผลอทําโดยไม่รู้ตัวก็เรียกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของการที่ทําให้เด็กเข้าใจรู้จักตัวเองก่อน
Apple Podcast: https://apple.co/3m15ytB
Spotify: https://spoti.fi/3cvAVcX
Youtube: https://bit.ly/3cxn31u