ฮะ...ฮัดชิ้ว!!!! แค้กๆ ได้ยินเสียงอย่างนี้จากเจ้าหนูทีไร นึกถึงโรคอื่นไปไม่ได้เลยค่ะ นอกจากเจ้าโรคหวัดตัวดีแน่ๆ เชียว เป็นแล้วหายยังไม่เท่าไร แต่ถ้าเป็นๆ หายๆ อย่างกับเรื้อรังซะแล้วจะทำอย่างไรกันดีล่ะ เบาใจได้ค่ะ เพราะวันนี้ พญ. สมฤดี ชัยวีระวัฒนะ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดินหายใจ จะมาเปิดประตูหาคำตอบของเจ้าโรคหวัดเรื้อรังกัน
หวัดเป็นอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยในวัยเด็กมาพบแพทย์มากที่สุด ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ทั้งเด็กทารก เด็กโต และอาจรวมถึงวัยผู้ใหญ่ด้วย แต่ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่าโรคหวัดเสียก่อนดีกว่า
โรคหวัด : จัดเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน และเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็ก แม้ในเด็กแข็งแรงทั่วไปอาจจะพบได้ถึงปีละ 6-8 ครั้ง และมักจะเป็นในช่วง 2 ขวบปีแรก ซึ่งจะพบได้บ่อยในเด็กเล็ก เด็กที่ไม่แข็งแรง เด็กที่น้ำหนักน้อย เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแออัด เด็กที่นำไปฝากเลี้ยงไว้ในเนอสเซอร์รี่หรือเดย์แคร์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเด็กที่เริ่มไปโรงเรียนด้วยค่ะ
สาเหตุของหวัด : ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 200 ชนิด โดยมีส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เพราะว่าโรคหวัดเกิดจากสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เมื่อไปเจอคนมากขึ้น เด็กอาจจะอยู่กับคนหลายๆ ภาวะมีทั้งสบายดีและไม่สบายด้วยโรคต่างๆ โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมากขึ้นตาม หรือในบางครอบครัวที่พี่คนโตไปโรงเรียน ก็จะพบว่าน้องคนเล็กที่ยังอยู่ในบ้านก็เป็นหวัดบ่อยขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นของฝากจากพี่ๆ ที่ไปโรงเรียนแล้วก็ได้ โดยพี่อาจจะไปสัมผัสกับเพื่อนคนอื่นที่ไม่สบายแล้วเอามาติดน้อง
แต่ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณพ่อคุณแม่เก็บลูกหลานไว้ในบ้านนะ คะ เพราะจากการศึกษาพบว่าเมื่อเด็กที่ไปโรงเรียนและเติบโตขึ้น โอกาสติดเชื้อหรือเป็นหวัดจะน้อยลงตามไปด้วยค่ะ อาจจะเป็นเพราะภูมิต้านทานของเด็กดีขึ้น ทำให้ร่างกายมีความแข็งแรงมากขึ้นด้วย
ลักษณะอาการ : หวัดจะทำให้เกิดอาการในเด็กเล็กรุนแรงมากกว่าในเด็กโตหรือในวัยผู้ใหญ่ โดยจะแบ่งลักษณะอาการดังนี้ค่ะ
เด็กเล็ก - มักเริ่มต้นด้วยอาการไข้เฉียบพลัน ร้องกวนโยเย หงุดหงิด จาม และมีน้ำมูกไหลตามมา ซึ่งในช่วงแรกลักษณะน้ำมูกจะใส มักมีอาการแน่นคัดจมูก ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากทารกเล็กๆ สามารถหายใจผ่านทางจมูกได้อย่างเดียว ยังไม่สามารถหายใจทางปากได้เหมือนเด็กโต เพราะฉะนั้นอาจทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก มีเสียงดัง กินนมได้น้อย และเหนื่อยเร็วเวลาดูดนม หรือบางครั้งอาจจะมีอาเจียนตามมาหลังกินนม นอกจากนี้โรคหวัดยังทำให้เกิดอาการเจ็บคอและไอร่วมด้วย
เด็กโต - มักจะเริ่มด้วยอาการแห้งแสบจมูกหรือคอหอย ตามด้วยจาม ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว มีน้ำมูกใส ไอ อาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย โดยภายใน 1-2 วัน น้ำมูกและเสมหะจะเปลี่ยนเป็นเหนียวข้นมากขึ้น
ทั้งนี้เชื้อไวรัสบางชนิดนอกจากจะทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินอาหารได้ด้วย เช่น ทำให้อาเจียน และท้องเสียร่วมด้วยก็ได้
โรคหวัดธรรมดาต่างจากโรคหวัดเรื้อรังอย่างไร
มีคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่มาพบหมอด้วยความรู้สึกวิตกกังวลว่า เด็กเป็นหวัดไม่หายเสียทีจะเรื้อรังไหม บางครั้งก็จะบอกว่าลูกเป็นหวัดทั้งปี ถ้าต้องกินยาตลอดไปจะเป็นอันตรายไหม
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เด็กปกติสามารถเป็นหวัดได้ปีละ 6-8 ครั้ง แต่เมื่อมาหาหมอด้วยอาการเป็นหวัดบ่อยๆ หรือเป็นหวัดเรื้อรัง เราพบว่าส่วนหนึ่งจะเป็นโรคหวัดธรรมดาที่เป็นแล้วเป็นอีกแต่ไม่ต่อเนื่องกัน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นหวัดเรื้อรังและมีอาการต่อเนื่องกัน หรืออาการแรกยังไม่หายขาดแล้วมีอาการใหม่เข้ามาอีก ทั้งนี้สาเหตุของหวัดเรื้อรังอาจแยกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประการคือ
1. เกิดจากติดเชื้อเรื้อรัง
เด็กๆ บางคนจะมีลักษณะอาการหวัด โดยน้ำมูกเปลี่ยนจากสีใสขาวขุ่น มาเป็นเหลืองและเขียวข้น เราอาจจะต้องนึกถึงสาเหตุอื่นด้วย เช่น ภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีการติดเชื้อของอวัยวะอื่นที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น การติดเชื้อของต่อมน้ำเหลืองในช่องคอ (ต่อมทอนซิล หรือต่อมอดีนอยด์ขนาดใหญ่) ทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินของเสมหะหรือเยื่อเมือกปกติ
การติดเชื้อโรคเรื้อรังบางชนิด หรือแม้กระทั่งการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ เช่น เด็กอาจนำเม็ดพลาสติกหรือเมล็ดถั่วยัดใส่จมูกระหว่างเล่น ทำให้เกิดอาการอุดตันและมีการติดเชื้อตามมา
อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการกินยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อโรคไม่ครบ พออาการดีขึ้น น้ำมูกเริ่มแห้ง คุณพ่อคุณแม่บางคนก็จะหยุดให้ลูกกินยา เพราะรู้สึกว่าลูกกินยายากจึงไม่อยากให้ลูกกินต่อไปอีก การทำอย่างนี้จะก่อปัญหาทำให้การติดเชื้อนั้นไม่หายขาด ทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น จำเป็นจะต้องใช้ยาที่สูงขึ้นมีราคาแพงขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น ดังนั้นควรให้ลูกกินยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบจะดีที่สุดค่ะ
2. เกิดจากภาวะภูมิแพ้
เป็นโรคที่เกิดจากปฏิกิริยาไวเกินของร่างกาย ทำให้มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้คนไข้เกิดอาการคัน จาม น้ำมูกไหล รวมถึงอาการคัดแน่นจมูก ซึ่งจะพบมากขึ้นในเด็กโตอายุประมาณ 6-7 ปี และในปัจจุบันประเทศไทยก็มีอุบัติการณ์ของโรคนี้มากขึ้นด้วย อาจเกี่ยวข้องกับมลภาวะหรือมลพิษทางอากาศ เพราะการที่สังคมมีการเจริญเติบโตมากขึ้น ทำให้คนอยู่กันหนาแน่นมากขึ้น มีการจราจรที่แออัดติดขัด
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดโรคหวัดจากภูมิแพ้มากขึ้น ทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งนั่นคือกรรมพันธุ์ รวมทั้งการเลี้ยงดู ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดอีกประการหนึ่ง คือการให้เด็กกินนมแม่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนแรกค่ะ
นอกจากนี้เด็กบางคนที่เริ่มมีอาการของโรคหวัดตั้งแต่วัยทารกร่วมกับอาการ อื่น เช่น มีน้ำมูกเรื้อรัง ไอ ท้องเสีย หรือบางครั้งมีผื่นตามใบหน้าและลำตัว อาจจะต้องนึกถึงสาเหตุจากการแพ้นมวัวด้วยค่ะ
3. เกิดจากภาวะอื่นๆ
เด็กบางคนอาจจะมีความบกพร่องของอวัยวะที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ผนังกั้นจมูกเบี้ยวหรือผิดรูป มีการทำงานของขนพัดโบกในเยื่อบุจมูกผิดปกติ รวมถึงภาวะภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่องหรือผิดปกติ โรคประจำตัวอื่นๆ ภาวะขาดสารอาหาร หรือน้ำหนักตัวน้อย ฯลฯ ก็อาจเป็นทั้งปัจจัยหลักและปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กมีอาการของหวัดเรื้อรัง ได้
จะเห็นได้ว่าอาการของหวัดเรื้อรังมาจากสาเหตุมากมายหลายประการ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะการเป็นหวัดเรื้อรังอาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาด้วย เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะส่วนใหญ่โรคหวัดมักเกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถหายเองได้ ถ้ากินยาครบและดูแลสุขภาพให้ดีค่ะ...
Tip : หลักการดูแลลูกเบื้องต้นเมื่อหวัดมาเยือน
- ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และงดเล่นหรือออกกำลังกายในช่วงที่เป็นหวัด
- กินอาหารที่มีประโยชน์ อาจเป็นอาหารอ่อนๆ อย่างข้าวต้มหรือโจ๊ก ฯลฯ โดยให้มีคุณค่าแก่ร่างกายให้ครบทั้ง 5 หมู่
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากการที่มีไข้ขึ้นสูง และยังช่วงลดความหนืดข้นของน้ำมูกและเสมหะอีกด้วย
- ควรพาลูกไปพบแพทย์เมื่อมีไข้สูงหรืออาการไม่ดีขึ้นเลย และต้องดูแลให้ลูกปฏิบัติตัวตามคำแนะนำและกินยาตามที่แพทย์สั่งจนครบ
- หมั่นตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนตามนัด เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อทางระบบหายใจอื่นอีกค่ะ
-------------------------------------------------------