แคลเซียมสำคัญอย่างไร
แคลเซียมเป็นเกลือแร่ที่มีมากที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์ต่างๆ ส่วนใหญ่พบในกระดูก ปกติแล้วร่างกายของเราไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เอง ต้องได้รับจากอาหารที่รับประทานเท่านั้น
ร่างกายจะมีความต้องการแคลเซียมทุกช่วงวัย แต่สำหรับแม่ท้องแล้ว นับได้ว่านี่เป็นแร่ธาตุจำเป็นที่ต้องได้รับอย่างเพียงพอ ทั้งในขณะท้อง หลังคลอด และให้นมลูก เพราะแคลเซียมจะช่วยส่งเสริมพัฒนาโครงสร้างกระดูกของทารกในครรภ์รักษาความหนาแน่นของกระดูก โดยการสร้างและป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกของแม่เอง ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน นอกจากนี้ถ้าแม่ท้องได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ จะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูง ลดการเกิดตะคริว โดยแม่ท้องควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม
อาหารอุดมแคลเซียม
แหล่งของแคลเซียมในอาหารที่พบมากมีอยู่ในนม โยเกิร์ต ชีส ปลาตัวเล็ก กุ้งฝอย ธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง เต้าหู้ ผักใบเขียว ร่างกายดูดซึมแคลเซียมจากพืชผักได้น้อยกว่านมและก้างปลา การเพิ่มปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม จากอาหารในแต่ละวันเพื่อให้แม่ท้องได้รับปริมาณแคลเซียมครบถ้วน ทำได้โดยดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว แบ่งเป็นนมวัว 1 แก้ว และนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมอีก 1 แก้ว ปลาที่กินทั้งกระดูก เช่น ปลาข้าวสาร ปลาตัวเล็ก 2 ช้อน กินร่วมกับข้าว ไข่ 1 ฟอง ธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง วันละ 3-4 ช้อนโต๊ะ ผักใบเขียว 2-3 ทัพพี ผลไม้ 2-3 ชนิด และเลือกอาหารไทยๆ ที่มีกะปิเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงเลียง ต้มส้ม แกงเผ็ดต่างๆ เป็นต้น
ตัวอย่างปริมาณแคลเซียมในอาหาร
อาหาร | ปริมาณ | แคลเซียม (มิลลิกรัม) |
นมจืด | 200 มิลลิลิตร | 226 มิลลิกรัม |
นมพร่องมันเนย | 200 มิลลิลิตร | 246 มิลลิกรัม |
โยเกิร์ต | 150 กรัม | 160 มิลลิกรัม |
นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม | 180 มิลลิกรัม | 106 มิลลิกรัม |
เชดดาร์ซีส | 25 กรัม | 204 มิลลิกรัม |
ปลาเล็กปลาน้อย | 2 ช้อนโต๊ะ | 226 มิลลิกรัม |
กุ้งฝอย | 1 ช้อนโต๊ะ | 134 มิลลิกรัม |
กุ้งแห้ง | 1 ช้อนโต๊ะ | 138 มิลลิกรัม |
กะปิ | 1 ช้อนชา | 94 มิลลิกรัม |
เต้าหู้อ่อน | 5 ช้อนโต๊ะ | 150 มิลลิกรัม |
เต้าหู้แข็ง | 1 ทัพพี | 130 มิลลิกรัม |
ผักคะน้าผัด | 1 ทัพพี | 71 มิลลิกรัม |
ผักกาดเขียวผัด | 1 ทัพพี | 96 มิลลิกรัม |
ผักกวางตุ้งต้ม | 1 ทัพพี | 60 มิลลิกรัม |
ใบยอนึ่ง | ½ ทัพพี | 87 มิลลิกรัม |
ใบกระเพราผัด | 3 ช้อนโต๊ะ | 61 มิลลิกรัม |
ขนมปัง | 1 แผ่น | 32 มิลลิกรัม |
กล้วยหอม | 1 ผล | 10 มิลลิกรัม |
ส้มเขียวหวาน | 1 ผล(100กรัม) | 30มิลลิกรัม |
แอปเปิ้ล | 1 ผล | 10 มิลลิกรัม |
มะขามหวาน | 5 ฝัก | 56 มิลลิกรัม |
ถั่วแดงหลวงดิบ | 1 ช้อนโต๊ะ | 96 มิลลิกรัม |
งาดำ | 1 ช้อนโต๊ะ | 73 มิลลิกรัม |
ปรุงแบบไม่เสียแคลเซียม
การปรุงอาหารเพี่อรักษาคุณค่าของแคลเซียมให้อยู่ครบถ้วน ควรหลีกเลี่ยงการปรุงที่มีส่วนผสมของอาหารบางชนิดที่จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม เช่น
เครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีน เพราะคาเฟอีนจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น
การปรุงรสอาหารเค็มจัดหรืออาหารตากแห้ง เช่น หมูแดดเดียว ปลาเค็ม เพราะมีโซเดียมสูงทำให้ขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็ก
อาหารที่มีโปรตีนจากเนื้อสัตว์จำนวนมาก จะทำให้เกิดการสลายแคลเซียมเพิ่มมากขึ้น ควรบริโภคเนื้อสัตว์ปานกลาง
แอลกอฮอล์ ไม่ควรผสมแอลกอฮอล์ในอาหารเพราะจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย
น้ำมัน การปรุงอาหารทีมีน้ำมันมากเกินไปจะทำให้ไขมันจะไปรวมกับแคลเซียม ทำไห้ประสิทธิภาพของการดูดซึมลดน้อยลง
กรดออกซาลิก (oxalic acid) ในผักบางชนิดที่มีปริมาณมาก เช่น ผักโขม ใบชะพลู ผักปลัง หน่อไม้ฝรั่ง เพราะกรดออกซาลิกจะไปจับแคลเซียมที่มีในอาหาร ทำให้แคลเซียมถูกดูดซึมได้น้อยลง
จริงหรือไม่... ลูกหนึ่งคนดึงกระดูกซี่โครงแม่ไปหนึ่งซี่
คำตอบคือ “ไม่จริง” คือถ้าแม่ท้องได้รับแคลเซียมเพียงพอทั้งขณะตั้งครรภ์และให้นมลูก กระดูกของแม่จะยังคงแข็งแรง แต่อาจเกิดอาการความหนาแน่นของกระดูกลดน้อยลงบ้างหากแม่ท้องรับประทานแคลเซียมไม่สมดุลย์ เพราะลูกในท้องซึ่งอยู่ในช่วงสร้างกระดูกและฟันก็จะดึงแคลเซียมจากกระดูกของคุณแม่ไปใช้ ถ้าไม่ได้รับการเสริมแคลเซียมอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะโรคกระดูกพรุน ซึ่งป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเป็นประจำ
ที่ปรึกษาโภชนาการ : คุณแววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์