คนท้องเท้าบวมเกิดจากน้ำหนักตัว การยืนเดินนาน ๆ การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน เป็นต้น คนท้องเท้าบวมตอนกี่เดือนและจะแก้อาการเท้าบวมอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ
อาการคนท้องเท้าบวม เท้าบวมตอนกี่เดือน พร้อม 10 วิธีแก้อาการคนท้องเท้าบวม
คนท้องเท้าบวมเพราะอะไร
อาการคนท้องเท้าบวมเกิดได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก เช่น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตั้งครรภ์
- ขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้น แล้วไปกดเส้นเลือดบริเวณขา ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก
- คุณแม่มีกิจวัตรประจำวันที่ต้องยืน เดิน หรือนั่งท่าเดิมนาน ๆ
- การทานอาหารที่ทำให้ร่างกายสะสมน้ำมาก ๆ เช่น อาหารรสจัด ทำให้เกิดอาการบวมทั้งตัว รวมถึงเท้าคุณแม่ด้วย
- การใส่รองเท้าคับ แน่น และร้อน เป็นเวลานาน ๆ
คุณแม่ตั้งครรภ์ใกล้คลอดมักมีอาการเท้าบวม ซึ่งถ้าไม่บวมมาก บวมช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ แล้วยุบหายไปในเช้าวันรุ่งขึ้นก็ไม่เป็นไร ไม่อันตราย แต่ถ้าเท้าบวมมากจนถึงหน้าแข้ง หน้าท้อง บวมตามนิ้วมือและหน้า ถือว่าเป็นอาการผิดปกติที่ต้องพบแพทย์โดยด่วน
คนท้องเท้าบวมตอนกี่เดือน
คนท้องจะเริ่มเท้าบวมตอนอายุครรภ์ประมาณ 5 เดือนขึ้นไป เพราะเป็นช่วงที่น้ำหนักตัวและน้ำหนักครรภ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คนท้องบางคนอาจเท้าบวมช่วงใกล้คลอด โดยอาการเท้าบวมที่ถือว่าปกติ คือ การบวมที่หลังเท้า และบริเวณที่บวมต้องไม่เกินข้อตาตุ่มขึ้นมา เวลากดผิวหนังจะบุ๋มลง แต่ถ้าบวมขึ้นมาถึงหน้าขา บวมตามตัว แบบนี้ผิดปกติแล้วค่ะ คุณแม่ท้องควรรีบพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเสี่ยงกับอาการครรภ์เป็นพิษได้
คนท้องเท้าบวมแค่ไหนที่ถือว่าผิดปกติ
ถ้าแม่ท้องมีอาการเท้าบวมที่ไล่ลามมาถึงเหนือตาตุ่ม หน้าแข้ง รวมถึงบวมขึ้นมาถึงใบหน้า อาการนี้เรียกว่าบวมผิดปกติ ซึ่งอาจจะเป็นอาการและสัญญาณของครรภ์เป็นพิษ โดยต้องรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนในปัสสาวะหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะหรือตาพร่ามัวในระยะ 2-3 เดือนใกล้คลอด เป็นอาการของโรคแทรกซ้อนคือ ครรภ์เป็นพิษ หรือ ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์
วิธีสังเกตว่าคนท้องเท้าบวมมากหรือไม่
- รองเท้าที่เคยใส่สบาย เริ่มคับขึ้น หรือคับจนใส่ไม่ได้ เจ็บเท้า
- แหวนที่ใส่ได้ เริ่มคับมาก ถอดแหวนไม่ได้
- ลองชั่งน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเพิ่มสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม ให้เริ่มระวังและตรวจอาการครรภ์เป็นพิษ (โดยปกติน้ำหนักควรเพิ่มสัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม)
10 วิธีแก้อาการคนท้องเท้าบวมอย่างได้ผล
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพราะอาการเท้าบวมจะยิ่งแย่ลงหากร่างกายขาดน้ำ ในแต่ละวันคุณแม่จึงต้องดื่มน้ำให้เพียงพอค่ะ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม เพราะเกลือเป็นสาเหตุให้เกิดอาการบวม
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นจะทำให้เกิดอาการเท้าบวมและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น การเดิน ว่ายน้ำ หรือกีฬาอื่น ๆ ตามความชอบ แต่กีฬาบางชนิด เช่น โยคะ พิลาทีส ฟิตเนส ที่ใช้กำลัง เหงื่ออกเยอะ มีความร้อนมาเกี่ยวข้องควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนะคะ
- ออกกำลังเท้าและข้อเท้าให้แข็งแรง ด้วยการกระดกปลายเท้าขึ้น-ลง และหมุนข้อเท้าช้า ๆ เป็นประจำ จะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้นและช่วยลดอาการบวมได้
- หลีกเลี่ยงการเดินหรือยืนนาน ๆ หากจำเป็นควรพักบ่อย ๆ โดยการนั่งแล้วยกเท้าสูงขึ้น
- ไม่นั่งไขว่ห้าง เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกส่งผลให้เท้าบวมได้ค่ะ หากต้องนั่งทำงานติดต่อกันนาน ๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเหยียดขาตรง ๆ บ้าง หมุนข้อเท้า หรือ ลุกเดินบ้างนะคะ
- เสื้อผ้า-รองเท้าต้องไม่คับ หากคุณแม่สวมเสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า รองเท้า ที่รัดแน่นเกินไปจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก ในกรณีที่เท้าบวมคุณแม่ต้องเปลี่ยนรองเท้าตามขนาดของเท้าที่เปลี่ยนไปด้วยนะคะ โดยเลือกขนาดที่พอดีไม่คับเกินไป ส้นเตี้ย และยึดเกาะพื้นได้ดี
- แช่เท้าในน้ำอุ่น ประมาณ 15-20 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดและบวมที่เท้าได้ คุณแม่จะหยดน้ำมันหอมระเหยกลิ่นที่ชอบลงไปด้วยก็ได้ค่ะ
- นอนยกเท้าสูง โดยใช้หมอนรองขา ในแต่ละวันควรหาโอกาสนอนราบแล้วยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจสัก 2-3 ครั้ง ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี
หากปฏิบัติตามวิธีเหล่านี้แล้วเท้ายังคงบวม หรือมีทีท่าว่าอาการจะหนักขึ้น ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจหาสาเหตุว่าเกิดจากปัญหาสุขภาพหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสุขภาพแม่และทารกในครรภ์
ข้อมูลอ้างอิง: คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด สำนักพิมพ์รักลูกบุ๊กส์